พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันศุกร์ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 81/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 10 - 14 ก.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร บริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง ในช่วงวันที่ 10 -13 ก.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน
คำเตือน ในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดอกจากฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง และจัดเตรียมระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก เป็นต้น สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรไม่ตากไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเติมออกซิเจนให้กับน้ำ ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนตกชุก พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกเพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสำรวจโรงเรือนเพราะอาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ และแมงป่อง เป็นต้น เข้ามาอาศัยหลบฝนในบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ทำให้สัตว์เลี้ยงตื่นและอาจทำร้ายสัตว์เลี้ยงได้ หากพบควรรีบจัดการให้ออกไปจากโรงเรือน สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ พืชสวน และไม้ดอก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. มีฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ ส่วนในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 10 - 14 ก.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. มีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้ทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร อย่าให้ติดขัด ตื้นเขิน เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นท่วมขังในแปลงปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสนิมในกาแฟ และโรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมป้องกันโรคพืชดังกล่าว อนึ่ง ในช่วงวันที่ 9-14 ก.ค. ทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร อ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ระหว่างวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยในระยะต้นและกลางช่วง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวในวันแรกของช่วง จากนั้นร่องมรสุมดังกล่าวได้พาดเข้าสู่ไต้ฝุ่น "ชบา (CHABA, 2203)" และเลื่อน
ขึ้นไปทางเหนือมากขึ้นในระยะครึ่งแรกของช่วง ต่อจากนั้นร่องมรสุมได้เลื่อนกลับลงมาโดยพาดผ่านประเทศเมียนมาและตอนบนของภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกเกือบตลอดช่วง สำหรับบริเวณภาคใต้มีฝนตลอดช่วงโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาคมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง อนึ่ง ไต้ฝุ่น "ชบา (CHABA, 2203)" ได้ก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงและได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันและโซนร้อนตามลำดับ โดยเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.ค. จากนั้นพายุนี้ได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้า ๆ พร้อมกับทวีกำลังแรงขึ้นอีก จนเป็นไต้ฝุ่นในบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.ค. แล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนตอนใต้ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน จากนั้นได้อ่อนกำลังลงตามลำดับและสลายตัวไปในช่วงค่ำของวันที่ 3 ก.ค.
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 65-85 ของพื้นที่ในวันแรกและระยะปลายช่วง ส่วนวันอื่นๆ มีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 3 ก.ค. โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพะเยาและน่านในวันที่ 1 ก.ค.
จังหวัดเชียงรายในวันที่ 1 และ 4 ก.ค. จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 6 ก.ค. และจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 7 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 35-75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 4 ก.ค. มีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันแรกของช่วง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันที่ 1 ก.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดอุดรธานี์ในวันที่ 6 ก.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3 และ 6 ก.ค.มีฝนร้อยละ 5-15 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและวันสุดท้ายของช่วง ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3 และ 5 ก.ค. มีฝนร้อยละ 65-80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 4 และ 7 ก.ค. โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตราดในวันที่ 3 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 35-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 4 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 2 และ 7 ก.ค. มีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดช่วงโดยเฉพาะวันที่ 4 ก.ค. มีฝนหนักหลายพื้นที่ โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 4 ก.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 5 ก.ค.
ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี มุกดาหาร ตราด ระนอง และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาทเจริญ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา