พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 11 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 82/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมี/ กำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร บริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2-3 เมตร สวนในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
คำเตือนในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 56 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือและชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเรือเล็ก งดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 14 ก.ค.
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.
- ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ทำให้ในดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคเน่าเละในพืชผักต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก หอมใหญ่ มันฝรั่ง ข้าวโพดหวาน เป็นต้น โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการระบาดให้รีบเก็บทำลายทันที โดยนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนตกติดต่อกัน โดยมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก นอกจากนี้ควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผักไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกลงบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงโดยตรง และควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากฝนตก เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.
- ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากฝนตก เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ชาวเรือและชาวประมงเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเรือเล็กงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
โดยในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 มีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2-3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 65 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.
- ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น อนึ่ง ในช่วงวันที่ 11-14 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ชาวเรือและชาวประมงเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเรือเล็กงดออกจากฝั่ง นอกจากนี้เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรเฝ้าระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นชัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย
ระหว่างวันที่ 4-10 กรกฏาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนตกหนาแน่นเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ สำหรับบริเวณภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเชียงราย ในวันที่ 4 ก.ค. จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 6 ก.ค. และจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 7 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 25-55 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 8-9 ก.ค. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 6 ก.ค. จังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมาในวันที่ 9 ก.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 10 ก.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 4, 6 และ 7 ก.ค. มีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 8 ก.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 4, 6 และ 7 ก.ค. มีฝนร้อยละ 30-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 9 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 5 และ 7 ก.ค. มีฝนร้อยละ 20-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 4 และ 9 ก.ค. จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 8-9 ก.ค. และจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 9 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 7 และ 10 ก.ค. มีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะวันที่ 4 ก.ค. มีฝนหนักหลายพื้นที่ นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 4 ก.ค. และจังหวัดระนองในวันที่ 10 ก.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 5 ก.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ และตรังในวันที่ 9 ก.ค.
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ลพบุรี นครนายก ตราด ระนอง และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา