พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 5 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday August 5, 2022 15:12 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 5 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 93/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 5 - 6 ส.ค. ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และ อ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 11 ส.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 10 - 11 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 7 - 11 ส.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 9 ส.ค.นี้

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5 - 6 และ 10 - 11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนตกชุก โดยในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้วเกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยวไม่ควรปล่อยไว้กลางแจ้งเพราะอาจเปียกชื้นและเสียหายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้มั่นคงแข็งแรง หลังคาไม่รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสนิมในกาแฟ และโรคเน่าเละในพืชผัก เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนตกชุก โดยในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท่บูททุกครั้งเพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น ส่วนชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ ซึ่งลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยดังกล่าวไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยเข้ามาแพร่พันธุ์ในแปลงนาและกัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5 - 6 ส.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนตกชุกกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืช เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตรทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ สำหรับในช่วงฤดูฝนศัตรูสัตว์ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น ไร เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์เลี้ยงชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเติมออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 5 - 9 ส.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5 - 6 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 11 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเติมออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. ในช่วงวันที่ 5 - 6 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ในช่วงวันที่ 7 - 11 ส.ค. ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา:ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 5 - 6 และ 10 - 11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดพังงา ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเล มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ ลงไป:ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง โดยดูแลทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืช ให้น้ำระบายได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา และโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออก ฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต และเสียหายได้ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7 - 11 ส.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 9 ส.ค.นี้
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2565 ในวันแรกของช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกมีกำลังอ่อน โดยมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จากนั้นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกด

อากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนเกือบตลอดช่วง โดยมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวในวันที่ 31 ก.ค. จากนั้นได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในวันที่ 1-2 ส.ค. และพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในตอนปลายช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นโดยเฉพาะในระยะกลางและปลายช่วง ส่วนภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกของช่วงมีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และกำแพงเพชรในวันที่ 30 ก.ค. จังหวัดอุตรดิตถ์ในวันที่ 31 ก.ค. และจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 2 ส.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 30 ก.ค. และ 2 ส.ค. และจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 2 ส.ค. และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 31 ก.ค. จังหวัดตากในวันที่ 1 ส.ค. และจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 2 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 65-95 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 29 ก.ค. และ 1 ส.ค. มีฝนร้อยละ 20-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญในวันที่ 30 ก.ค. จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 1 ส.ค. และจังหวัดมุกดาหารในวันที่ 4 ส.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครพนม อุดรธานี และขอนแก่นในวันที่ 30 ก.ค. ภาคกลาง มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีรายงานฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 31 ก.ค. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรีในวันที่ 31 ก.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสิงห์บุรีในวันที่ 30-31 ก.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 10-45 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 31 ก.ค., 1 และ 4 ส.ค. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 1 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 45-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 2 ส.ค. มีฝนร้อยละ 95 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 30 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 30 ก.ค. และ 4 ส.ค. มีฝนร้อยละ 25-35 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 1 ส.ค. นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 1 ส.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดกระบี่และพังงาในวันที่ 1 ส.ค. และจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 1-2 ส.ค.

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย อุตรดิตถ์ นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ อ่างทอง กรุงเทพมหานคร นครปฐม สระแก้ว ระยอง ตราด พังงา และกระบี่ ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ