พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 26 มีนาคม 2551 - 01 เมษายน 2551

ข่าวทั่วไป Wednesday March 26, 2008 16:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 26 มีนาคม 2551 - 01 เมษายน 2551
ภาคเหนือ
อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว และอาจมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่เกือบตลอดช่วง ในระหว่างวันที่ 26-30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และมีลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า กับลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้แก่บ้านเรือนและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เพื่อป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งขณะมีฝนฟ้าคะนอง นอกจากนี้เกษตรกรควรผูกยึดหรือค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกขาด และลำต้นโค่นล้ม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวเกือบตลอดช่วง ในระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค.มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนในระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 1 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และมีฝนตกหนัก ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรงกับลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เนื่องจากระยะนี้อากาศร้อนและมีแสงแดดจัด ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณน้ำและจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสม และทำที่พรางแสงให้สัตว์หลบพัก ส่วนผู้ที่เลี้ยงโคและกระบือควรจัดหาน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ อนึ่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานานๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อสภาวะขาดน้ำ เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ภาคกลาง
อากาศร้อนเกือบตลอดช่วง ในระหว่างวันที่ 26-30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 1 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ สำหรับผู้ที่ปลูกไม้ดอกควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และดอกเสียหาย นอกจากนี้ควรคลุมแปลงปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นในดิน
ภาคตะวันออก
อากาศร้อนทางตอนบนของภาคเกือบตลอดช่วง ในระหว่างวันที่ 26-30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนในระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 1 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรสำรวจและเตรียมวัสดุสำหรับผูกยึดหรือค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกขาด และลำต้นโค่นล้ม สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลควรระวังการระบาดของศัตรูพืชชนิดต่างๆ เช่น หนอนเจาะขั้วผลในเงาะและหนอนเจาะเปลือกทุเรียน
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ต่อจากนั้นฝนจะลดลง ระยะนี้ทางตอนบนของภาคอากาศร้อน สับปะรดที่เพิ่งปลูกใหม่ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นทรุดโทรม ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ เช่นโคและกระบือ ควรจัดหาน้ำดื่มให้เพียงพอ ส่วนบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในระยะต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ