พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 28 มีนาคม 2551 - 03 เมษายน 2551

ข่าวทั่วไป Friday March 28, 2008 14:07 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 28 มีนาคม 2551 - 03 เมษายน 2551
ภาคเหนือ
อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว และอาจมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างและด้านตะวันออกของภาค ส่วนในระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-3 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ โดยมีลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรสำรวจการผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกขาด และลำต้นโค่นล้ม นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะจะเป็นการเพิ่มหมอกควันในอากาศ และซ้ำเติมสภาวะโลกร้อน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อนบางพื้นที่กับมีฟ้าหลัว ในระหว่างวันที่ 28-29 มี.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และมีลมกระโชกแรงบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนในระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 3 เม.ย.จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย โดยมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและเข้าใกล้ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง ขณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์เครียด นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร
ภาคกลาง
อากาศร้อน ในระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ในสภาพอากาศร้อนและมีแดดจัดผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ควรพรางแสงรวมทั้งเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ระเหยมีมาก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชทดแทนการสูญเสียและควรใช้น้ำอย่างประหยัดโดยให้ครั้งน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
ภาคตะวันออก
อากาศร้อนทางตอนบนของภาค ในระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนในระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-3 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลและตรวจสอบวัสดุที่ผูกยึดและค้ำยันกิ่งและ ลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันความเสียหายขณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง อย่างไรก็ดีปริมาณฝนไม่มาก เกษตรกรจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และควรวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อจะได้มีน้ำตลอดช่วงแล้ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายตลอดช่วง ส่วนมากทางตอนล่างของฝั่งตะวันออก บริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในระยะต่อไป สำหรับทางตอนบนของภาค น้ำระเหยมาก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอโดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะผลอ่อน เพราะหากขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้การติดผลลดลง ส่วนต้นกล้าพืชที่ปลูกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรทำร่มเงา อนึ่งบริเวณสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบสวน และหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ