พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 21 - 27 กันยายน พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Wednesday September 21, 2022 15:05 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 21 - 27 กันยายน พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 113/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทย จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกัน ความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 22 - 26 ก.ย. มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุดสีดำในกุหลาบ โรคราสนิมในกาแฟ และโรคแอนแทรกโนสในสตรอเบอรี่ เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงปลายฤดูฝน ควรมีแหล่งน้ำสำรองเอาไว้ให้พืชในระยะเจริญเติบโตและระยะให้ผลผลิต โดยเฉพาะในระยะผลิดอกออกผลเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำมากกว่าระยะอื่นๆ หากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ย. มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง ส่วนในช่วงที่มีฝนตกและน้ำนองชาวนาควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปกำจัด เพื่อป้องกันหอยเข้าในแปลงนา ขยายพันธุ์และกัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดกับข้าวในทุกระยะการเจริญเติบโตทำให้ต้นข้าวเสียหายผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบเช่น โคและกระบือ เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ป้องกันน้ำขังพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนานทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ หลังคาไม่รั่วซึม แผงกำบังฝนอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคยอดเน่าในกล้วยไม้ โรคแอนแทรกโนสในฝรั่ง โรคดอกเน่าในดาวเรือง เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบจัดการ เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ น้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชและแปลงปลูกนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา และโรครากเน่าในพริกไทย เป็นต้น โดยดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึงป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าว และหากพบโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับทางฝั่งตะวันตกจะมีฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก ซึ่งฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาวและโรคใบยางร่วงในยางพารา โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่นใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีฝนฟ้าคะนองและลมแรง อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 14 - 20 กันยายน 2565 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี กรุงเทพมหานคร และจันทบุรี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ