พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 23 - 29 กันยายน พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 114/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 23-25 ก.ย. 65 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาค/ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร
อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนและจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์และเคลื่อนลงสู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. 65 และมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.65 ส่งผลทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมแรงบางแห่ง
คำเตือน ขอให้ประชาชน ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือและชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย.
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 23-25 และ 28-29 ก.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-27 ก.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- ระยะนี้จะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงในบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว จากสภาวะที่ฝนตกติดต่อกัน ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น นอกจากนี้เกษตรกรควรสำรวจดูแลการผูกยึดค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 23-25 และ 27-29 ก.ย. 65 ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.
- ระยะนี้จะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงในบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว เนื่องจากฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผักไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-7 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ขณะมีฝนฟ้าคะนอง นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนเจาะฝัก หนอนมวนใบในถั่วเหลือง เป็นต้น
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
ในวันที่ 23-25 ก.ย.65 ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 26-29 ก.ย. 65 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-7 ชม.
- ระยะนี้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ควรสำรวจดูแลการผูกยึดค้ำยันกิ่ง ลำต้นของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบไหม้ในทุเรียน โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. บริเวณทะเลอ่าวไทย จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ในวันที่ 23-25 ก.ย. 65 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 26-29 ก.ย. 65 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในวันที่ 23-25 ก.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 26-29 ก.ย. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
- มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากฝนตก เพื่อป้องกันแยกชั้นและเพิ่มออกซิเจนในน้ำ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ระหว่างวันที่ 16-22 กันยายน 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันแรกของช่วง จากนั้นได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 17-18 ก.ย. โดยร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 19-20 ก.ย. แล้วเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้งในระยะปลายช่วง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลางเกือบตลอดช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง ส่วนภาคใต้มีฝนตลอดช่วงโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดช่วง
ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 16 และ 19 ก.ย. มีฝนร้อยละ 40-45 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ในวันที่ 16 ก.ย. จังหวัดพะเยาและลำปางในวันที่ 18 ก.ย. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 16 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 20 ก.ย. มีฝนร้อยละ 55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 16 ก.ย. จังหวัดมหาสารคามและสุรินทร์ในวันที่ 18 ก.ย. จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษในวันที่ 20 ก.ย. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดยโสธรในวันที่ 16 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสงครามในวันที่ 21 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 17 ก.ย. มีฝนร้อยละ 55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 18 และ 20 ก.ย. นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสระแก้วในวันที่ 17 ก.ย. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสระแก้วในวันที่ 20 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-60 ของพื้นที่กับมีฝน หนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 20 ก.ย. และจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 21 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 17 ก.ย. มีฝนร้อยละ 35 ของพื้นที่
ช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และตราด ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา