พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 11 เมษายน 2551 - 17 เมษายน 2551

ข่าวทั่วไป Friday April 11, 2008 13:58 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 11 เมษายน 2551 - 17 เมษายน 2551
ภาคเหนือ
มีฟ้าหลัว และอากาศร้อน กับมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดลำปาง และตาก ในช่วงวันที่ 11-14 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรจึงควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยตรวจสอบความแข็งแรงของวัสดุที่ผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ อนึ่ง ในระยะนี้อากาศร้อนและแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อน ในช่วงวันที่ 11-14 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย กับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนอง เป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งขณะฝนฟ้าคะนอง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะเกิดในช่วงหน้าร้อน ส่วนบริเวณที่เพาะปลูกข้าวนาปรังควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต
ภาคกลาง
อากาศร้อน กับมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงวันที่ 11-14 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 เม.ย. มี ฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรจึงควรระวังป้องกันความเสียหาย สำหรับข้าว นาปรังที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย
ภาคตะวันออก
อากาศร้อนทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11 และ 15-17 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งขณะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวรวมทั้งผูกยึดค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลที่รับน้ำหนักมากให้แข็งแรงเพื่อป้องกันต้นหักโค่นและกิ่งฉีกหัก สำหรับผลผลิตการเกษตร ที่แก่ดีแล้ว ควรรีบเก็บเกี่ยวและหลีกเลี่ยงการตากไว้กลางแจ้ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนอง กระจายตลอดช่วง สำหรับบริเวณที่มีฝนตกโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก สภาพอากาศจะมีความชื้นสูง อาจมีการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเส้นดำ และโรคราสีชมพูในยางพารา ดังนั้นเกษตรกรควรระวังและป้องกันไว้ สำหรับบริเวณที่มีฝนตกน้อยโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรให้น้ำอย่างเพียงพอแก่พืชที่อยู่ในระยะให้ผลผลิต รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชทรุดโทรม
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ