พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 14 เมษายน 2551 - 20 เมษายน 2551

ข่าวทั่วไป Monday April 14, 2008 12:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 14 เมษายน 2551 - 20 เมษายน 2551
ภาคเหนือ
อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว และมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และตาก ในวันที่ 14 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15-20 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผลที่กำลังเจริญเติบโตทางผลควรตรวจสอบความแข็งแรงของวัสดุที่ผูกยึดหรือค้ำยันกิ่ง ส่วนบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดและแดดจัด ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ รวมทั้งดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อน ในวันที่ 14 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15-20 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายเนื่องจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณที่มีฝนตกควรเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคในระยะต่อไปด้วย ส่วนบริเวณที่มีฝนตกน้อย อากาศร้อนและแห้ง ดังนั้นชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าวนาปรัง ซึ่งจะทำให้ข้าวเสียหายได้
ภาคกลาง
อากาศร้อน และมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดช่วง กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันความเสียหายโดยผูกยึดหรือค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลที่รับน้ำหนักมากให้แข็ง เนื่องจากระยะนี้มีอากาศร้อน ในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้น้ำระเหยจากดินและพืชได้มาก ดังนั้นเกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชโดยเฉพาะไม้ดอกชนิดต่างๆ อย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต และดอกแคระแกร็น
ภาคตะวันออก
อากาศร้อนทางตอนบนของภาค และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรง ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร ส่วนผู้ที่ปลูกไม้ผลควรผูกยึดหรือค้ำยันกิ่งและลำต้นที่รับน้ำหนักมากให้แข็งแรง สำหรับบริเวณที่มีอากาศร้อน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลอย่าให้ปริมาณน้ำและอุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงมาก เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย รวมทั้งควรทำร่มเงาพรางแสงเพื่อให้สัตว์เข้าพักอาศัยในช่วงที่มีแสงแดดจัดด้วย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนอง เป็นแห่งๆถึงกระจายตลอดช่วง สำหรับบริเวณตอนบนของภาคซึ่งมีฝนตกน้อย สภาพอากาศแห้ง ดังนั้นเกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่ปลูกโดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น เช่น ผักและพืชไร่ชนิดต่างๆ รวมทั้งนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคลุมโคนต้นเพื่อสงวนความชื้นในดิน ส่วนบริเวณที่มีฝนตกโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนชนิดต่างๆ ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลอ่อนเสียหายได้
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)ข้างบนแล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ