พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 17 - 23เมษายน 2551

ข่าวทั่วไป Thursday April 17, 2008 14:27 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 17 เมษายน 2551 - 23 เมษายน 2551
ภาคเหนือ
อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว และมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และตาก ในช่วงวันที่ 16-20 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ส่วนในวันที่ 21-22 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย กับลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังป้องกันอันตรายและความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงและต้นไม้ใหญ่ ขณะลมกระโชกแรง เนื่องจากระยะนี้อากาศร้อนและในบางพื้นที่อากาศร้อนจัด เกษตรกรควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อน ในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ และในวันที่ 18-20 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 21-22 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่ง ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง สำหรับบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
ภาคกลาง
อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยดูแลอาคาร และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความแข็งแรง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งขณะฝนฟ้าคะนอง นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารซึ่งมักระบาดในหน้าร้อน
ภาคตะวันออก
อากาศร้อนทางตอนบนของภาค และมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบวัสดุที่ผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการหักโค่นขณะเกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง สำหรับบริเวณซึ่งมีฝนตกน้อย มีแดดจัดและอุณหภูมิสูงทำให้น้ำระเหยมาก เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชทรุดโทรม ส่วนบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในระยะที่มีฝนตกน้อย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ