พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 18 - 24 เมษายน 2551

ข่าวทั่วไป Friday April 18, 2008 15:13 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 18 เมษายน 2551 - 24 เมษายน 2551
ภาคเหนือ
อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัว ในช่วงวันที่ 18-20 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ส่วนในวันที่ 22-24 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ข้าวนาปรังที่สุกดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยวและหลีกเลี่ยงไม่ตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง อนึ่ง สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไป
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อน ในช่วงวันที่ 18-20 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรจากสภาวะดังกล่าว หลายพื้นที่ที่สภาพอากาศแห้งและร้อนอบอ้าว อาจมีการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจนาข้าวหากพบให้รีบกำจัด
ภาคกลาง
อากาศร้อน ในช่วงวันที่ 18-21 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรง ในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรตรวจสอบอาคาร และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มี ความแข็งแรง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งก่อสร้างสูงๆขนาดใหญ่ ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และควรทำที่พรางแสงให้สัตว์หลบซ่อนในช่วงที่แสงแดดจัด สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไป
ภาคตะวันออก
อากาศร้อนทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 18-21 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ตลอดจนป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สำหรับในช่วงที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำสำรองเอาไว้ใช้ต่อไป รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง ส่วนฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายตลอดช่วง เนื่องจากระยะนี้ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีแนวโน้มปริมาณของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก สำหรับสวนยางพาราบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง ส่วนทางฝั่งตะวันออกซึ่งมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล หากขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ ส่วนบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในระยะต่อไป
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ