พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 7-13 พฤษภาคม 2551

ข่าวทั่วไป Wednesday May 7, 2008 14:12 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 07 พฤษภาคม 2551 - 13 พฤษภาคม 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาคควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนัก สำหรับระยะต่อไปจะเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งสภาพอากาศจะมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ดอก พืชไร่ และพืชสวน ตลอดจนพืชผักต่างๆ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย ส่วนในระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝน เกษตรกรควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มักเกิดในฤดูฝนให้กับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มแล้วทำการรักษา เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่น
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝน เกษตรกรที่เตรียมดินสำหรับปลูกพืชควรยกร่องแปลงปลูกให้สูง รวมทั้งเตรียมทางระบายน้ำเอาไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพราะจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง เนื่องจากระยะต่อไปเป็นฤดูฝน พื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรเตรียมการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังหากมีฝนตกหนัก สำหรับชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคหน้ากรีดยาง โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า เป็นต้น โดยดูแลบริเวณสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดควมชื้นภายในสวน
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ตามปกติ รวมทั้งผูกยึดและค้ำยันลำต้นไม้ผลที่ล้มเอนให้ตั้งตรง หากพบบาดแผลควรตัดแต่งและทำความสะอาดแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา สำหรับระยะต่อไปจะเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรเตรียมการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนักในระยะต่อไป อนึ่ง ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค.คลื่นลมมีกำลังแรงขึ้น ชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเพิ่มระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ