ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 23 พฤษภาคม 2551 - 29 พฤษภาคม 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 23-24 และ 28-29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27-28 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ในระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชและดอกเสียหาย อนึ่ง ในบางช่วงอาจมีฝนตกหนัก พื้นที่การเกษตรที่อยู่บริเวณเชิงเขา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการกัดเซาะของน้ำบริเวณพื้นที่เพาะปลูก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 23-25 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกบ่อย เกษตรกรควรลดความชื้นพืชผลทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะหว่านกล้า ชาวนาไม่ควรหว่านแน่นจนเกินไปอาจเป็นสาเหตุของโรคที่เกิดจากเชื้อรา สำหรับบริเวณที่ขยายพื้นที่เพาะปลูก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำสำรองเอาใว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อยหรือเมื่อฝนทิ้งช่วง
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 23-24 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 25-29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ในช่วงที่มีฝนตกทำให้สภาพอากาศชื้น ผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ควร ลดความชื้นภายในโรงเรือน โดยเปิดให้โรงเรือนได้รับแสงมากขึ้นและอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์อยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย รวมทั้ง หมั่นสังเกตุหากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่มแล้วรีบรักษา เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 23-24 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 25-29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ในระยะนี้สภาพอากาศชื้น ไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว ชาวสวนไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะเปลือกและผลที่เน่าเสียไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคจำพวกเชื้อรา อนึ่ง ในหน้าฝนผู้ที่เตรียมดินสำหรับแปลงปลูกพืชรุ่นใหม่ควรยกร่อง เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายเกือบตลอดช่วง เนื่องจากระยะนี้เป็นฤดูฝนซึ่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนจึงควรดูแลบริเวณสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในบริเวณสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-