ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 26 พฤษภาคม 2551 - 01 มิถุนายน 2551
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 28-31 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณพื้นที่การเกษตรตามที่ลาดเชิงเขาอาจเกิดการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนไม้ผล เช่น ลิ้นจี่และลำไย ชาวสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของหนอนเจาะขั้วผล ซึ่งจะทำให้ผลผลิตร่วงหล่น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 26-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค.- 1 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายส่วนมาก ทางตอนบนของภาค ระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลชนิดต่างๆ เช่น น้อยหน่า ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตและตาย ส่วนผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวมาแล้วควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 28-29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายและมีฝนตกหนักบางแห่ง ผู้ที่ต้องการปลูกพืชไร่รุ่นใหม่โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาคควรปรับพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำขังและชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก ส่วนผู้ที่ปลูก ไม้ดอกควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนชนิดต่างๆ ซึ่งจะกัดกินทำให้ดอกเสียหาย
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 28-29 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง กระจาย และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรกั้นขอบบ่อให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าไปในบ่อในช่วงที่มีฝนตกหนัก ส่งผลทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงซึ่งจะทำให้สัตว์เครียดและเจ็บป่วยได้ง่าย ส่วนชาวสวนผลไม้ควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกัน น้ำท่วมขัง ซึ่งจะเป็นสาเหตุการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ระยะนี้ สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราจึงควรดูแลบริเวณสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในบริเวณสวน และป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนไม้ผลที่กำลังเจริญเติบโตทางผล เช่น เงาะ ทุเรียน และลองกอง ชาวสวนควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลอ่อนเสียหายได้
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)ข้างบนแล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-