พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 13 มิถุนายน 2551 - 19 มิถุนายน 2551

ข่าวทั่วไป Friday June 13, 2008 17:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 13 มิถุนายน 2551 - 19 มิถุนายน 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 13-16 มิ.ย.มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต่อจากนั้นจะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ในช่วงที่มีฝนตกหนักอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้บางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ตาก อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกชุกทำให้มีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะแก่การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ดังนั้นชาวสวนผลไม้ที่ตัดแต่งกิ่งในระยะนี้ควรทารอยแผลที่ตัดแต่งด้วยสารป้องกันเชื้อรา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ที่อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดหนองคายและอุดรธานี สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย ส่วนข้าวนาปีที่อยู่ในระยะหว่านกล้า ชาวนาไม่ควรหว่านกล้าแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกทำให้มีแอ่งน้ำขังซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ดังนั้นเกษตรกรจึงควรระวังและป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะ
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 13-15 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ต่อจากนั้น จะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มเกษตรกรควรเตรียมการระบายน้ำไว้ให้พร้อมใช้งานหากเกิดสภาวะน้ำท่วมขัง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในโรงเรือน รวมทั้งควรหมั่นสังเกตสัตว์เลี้ยงถ้าพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มแล้วรีบรักษา เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 13-15 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ต่อจากนั้น จะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระมัดระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพราะหากน้ำท่วมขังรากพืชนานจะทำให้รากขาดอากาศและตายได้ สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล และทารอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งควรดูแลสวนและบริเวณโคนต้นพืชให้โล่งเตียนไม่อับชื้น เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 13-15 มิ.ย. ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 13-15 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต่อจากนั้นจะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากทางตอนบนของภาค ในช่วงที่มีฝนตกหนักอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะในบริเวณจังหวัดชุมพร ระนอง และพังงา ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและตายได้ ส่วนยางพาราที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อนชาวสวนควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา อนึ่ง ในช่วงวันที่ 13-15 มิ.ย. ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ