พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 30 มิถุนายน 2551 - 06 กรกฎาคม 2551

ข่าวทั่วไป Monday June 30, 2008 08:39 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 30 มิถุนายน 2551 - 06 กรกฎาคม 2551
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง เป็นแห่งๆถึงกระจาย เนื่องจากระยะนี้ปริมาณฝนเริ่มลดลง พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะกล้าถึงปักดำ ชาวนาควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ส่วนในวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝน ฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย เนื่องจากระยะนี้สภาพอากาศยังคงมีความชื้นสูง โดยเฉพาะบริเวณทางตอนบนของภาค ชาวนาควรระวังและป้องกันโรคที่อาจเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ นอกจากนี้ควรสวมรองเท้าบูทและถุงมือทุกครั้งขณะทำงานในแปลงไร่นาที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู อนึ่ง บริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไป
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. -2 ก.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เนื่องจากระยะที่ผ่านมาปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรจึงควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงที่ปริมาณฝนลดลงหรือฝนทิ้งช่วง
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 30 มิ.ย.- 1 ก.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากบริเวณชายฝั่งและเทือกเขา ส่วนในช่วงวันที่ 2-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ในช่วงนี้ฝนมีปริมาณลดลงอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรที่ปลูกพริกไทยในระยะนี้ควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติม และตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่น
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. -1 ก.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 2-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วงส่วนมากทางตอนล่างของภาค สำหรับปริมาณฝนบางแห่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยเฉพาะไม้ผลที่กำลังเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรให้น้ำเพิ่มเติม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลแคระแกร็นและร่วงหล่น นอกจากนี้เกษตรกรควรเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงที่ปริมาณฝนลดลงหรือฝนทิ้งช่วงต่อไป
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ