พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 06 ตุลาคม 2551 - 12 ตุลาคม 2551

ข่าวทั่วไป Monday October 6, 2008 15:19 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 06 ตุลาคม 2551 - 12 ตุลาคม 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 6-8 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูและจะเข้าสู่ต้นฤดูหนาว สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการปลูกพืชไร่ในระยะนี้ยังคงปลูกได้เนื่องจากความชื้นในดินยังคงมีอยู่ แต่ควรเตรียมน้ำสำรองเอาไว้ให้พอเพียงสำหรับรอบระยะเวลาการเพาะปลูก โดยเฉพาะในระยะออกดอกและให้ผล เป็นช่วงที่หากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตพืชลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 6-8 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน จะเข้าสู่ต้นฤดูหนาว ซึ่งอากาศหนาวจะมาเป็นระลอกๆ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเฝ้าระวังอุณหภูมิน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมทั้งเริ่มลดปริมาณอาหารที่ให้แก่สัตว์น้ำ เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำลงทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย และสิ้นเปลืองอาหารโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 6-9 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้กลับมาใช้ได้ตามปกติ ระยะนี้สภาพอากาศจะแปรปรวน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรควบคุมอุณหภูมิน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับพื้นที่แล้งซ้ำซาก เกษตรกรควรรีบควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในระยะต่อไปด้วย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 6-9 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชาวสวนยางพาราควรดูแลบริเวณสวนให้โปร่งไม่อับชื้น อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงจำพวกสัตว์กีบอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะอาจทำให้เป็นโรคปากและเท้าเปื่อย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 6-9 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไป ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 6-9 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากระยะต่อไปภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชสวนควรดูแลสภาพสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ