ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 20 ตุลาคม 2551 - 26 ตุลาคม 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วน ในช่วงวันที่ 23-26 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางตอนบนของภาค และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในช่วงนี้อากาศหนาวจะแผ่ลงมาเป็นระลอกๆ เกษตรกรควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่ปลูกพืชผักควรระวังป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ที่อาจเกิดขึ้นทำให้พืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วน ในช่วงวันที่ 23-26 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆส่วนมากทางตอนบนของภาค และอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีน้อย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วน ในช่วงวันที่ 23-26 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากทางตะวันตกของภาค เกษตรกรบริเวณจังหวัดราชบุรี ควรระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับในช่วงต้นฤดูหนาวทางตอนบนของภาคอุณหภูมิต่ำสุดจะเริ่มลดลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนทางตอนล่างของภาคซึ่งยังคงมีฝน เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชและดูแลพื้นที่การเกษตรอย่าให้อับชื้น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ส่วน ในช่วงวันที่ 23-26 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำและวางแผนการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ จะได้มีน้ำใช้ ตลอดช่วงแล้งในระยะต่อไป นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ย และไรชนิดต่างๆ ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นทรุดโทรม ตาดอกของไม้ผลเสียหาย การออกดอกจะลดลง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 23-26 ต.ค.มีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรบริเวณจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ควรเตรียมพร้อมป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากระยะต่อไปจะมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรขุดลอกทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนชาวสวนผลไม้ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา อนึ่ง ในช่วงวันที่ 23-26 ต.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74