ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 03 พฤศจิกายน 2551 - 09 พฤศจิกายน 2551
ภาคเหนือ
อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองกระจาย เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัดตาก เชียงราย น่าน พะเยา และเพชรบูรณ์ควรระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้ในบางช่วงอาจมีหมอกและน้ำค้างเพิ่มขึ้น เกษตรกรที่ปลูกพืชผักควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้าง เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากในช่วงวันที่ 3-8 พ.ย. เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัดหนองคาย นครพนม อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคามควรระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก เนื่องจากสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ในระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง ในบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรจึงควรกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ สำหรับข้าวนาปีที่กำลังตั้งท้อง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบหงิก
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆเกือบตลอดสัปดาห์ส่วนมากทางตอนบนของภาค เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับควรลดความชื้นภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ เช่นโรคจุดสนิมและโรคใบจุด เป็นต้น ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกพืชที่ต้องการน้ำน้อยและอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดน้ำในช่วงที่พืชกำลังเจริญเติบโต
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายตลอดสัปดาห์ สำหรับพื้นที่ที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บสำรองน้ำเอาไว้ใช้ และวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ สำหรับสวนไม้ผลที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน ชาวสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของหนอนกินใบชนิดต่างๆ
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายตลอดสัปดาห์ โดยจะมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆเกือบตลอดสัปดาห์ สำหรับชาวสวนยางพาราและกาแฟชาวสวนควรกำจัดวัชพืช ดูแลสวนให้โปร่ง ลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74