พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 05 พฤศจิกายน 2551 - 11 พฤศจิกายน 2551

ข่าวทั่วไป Wednesday November 5, 2008 16:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 05 พฤศจิกายน 2551 - 11 พฤศจิกายน 2551

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ในวันที่ 8-9 พ.ย.มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทางตะวันตกของภาคของภาค หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา และเพชรบูรณ์ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ โดยทำแผงกำบังลมหนาวเพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอไม่ให้เจ็บป่วยได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 9-10 พ.ย. มีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพและอุณหภูมิน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมทั้งจำกัดปริมาณการให้อาหาร เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิต่ำสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยลง อาหารที่เหลืออาจจะทำให้น้ำเน่าเสีย

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายเกือบตลอดสัปดาห์ ในระยะต่อไปอากาศทางตอนบนของภาคจะเริ่มเย็นลงเกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ สำหรับบริเวณที่มีน้ำท่วม เมื่อน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรให้กลับสู่สภาพพร้อมเพาะปลูกต่อไป ส่วนนาข้าวชาวนาควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ ซึ่งอาจระบาดได้ในระยะนี้

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายตลอดสัปดาห์ สำหรับบริเวณที่มีฝนตกต่อเนื่อง ชาวสวนพริกไทยควรระวังและป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าซึ่งอาจระบาดได้หากมีความชื้นในดินสูง นอกจากนี้เกษตรกรควรเก็บกักน้ำเอาไว้ และวางแผนการจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อจะได้มีน้ำใช้สำหรับการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ในช่วงวันที่ 8-9 พ.ย. จะมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนกลางของภาค หลังจากนั้นฝนจะลดลง ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดสัปดาห์ และในช่วงวันที่ 8-9 พ.ย.จะมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค ขอให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ส่วนสวนไม้ผลที่อยู่ในช่วงแตกใบอ่อน ชาวสวนควรระวังและป้องกันหนอนกินใบชนิดต่างๆ ซึ่งจะกัดกินใบอ่อนและตาดอก ทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง อนึ่ง ในระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ควรเริ่มเตรียมดินให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ