ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 14 พฤศจิกายน 2551 - 20 พฤศจิกายน 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 14-16 พ.ย. อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น โดยมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-10 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอกและน้ำค้าง ระยะนี้อากาศจะเริ่มแห้งและแสงแดดจ้า น้ำจะระเหยรวดเร็ว เกษตรกรควรคลุมบริเวณแปลงปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นดิน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 14-16 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง และมีลมแรง สำหรับเกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองแล้วควรดับให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย ซึ่งมักจะเกิดในช่วงสภาพอากาศแห้ง สำหรับเกษตรกรที่เก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร ควรใช้น้ำอย่างประหยัด โดยให้น้ำครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 14-17 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 18-20 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และควรลดอาหารเนื่องจากอุณหภูมิลดลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเสีย ส่วนพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ตามปกติ รวมทั้งระวังป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารและโรคตาแดง
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 14-17 พ.ย. อากาศเย็นทางตอนบนของภาค อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 18-20 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับมะม่วงที่อยู่ในระยะออกดอก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของราดำ โดยใช้น้ำฉีดชะล้าง ทำให้การติดผลดีขึ้น ส่วนผลผลิตการเกษตรที่เก็บกี่ยวมาแล้ว เช่น ถั่วเขียวและถั่วลิสง ไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพื่อป้องกันความเสียหาย อันเกิดจากความชื้น เนื่องจากหมอกและน้ำค้าง อนึ่ง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน เป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 14-18 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในฝั่งตะวันออก เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง นอกจากนี้เกษตรกรควรดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในการเกษตร ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ชำรุด เสียหาย เพื่อป้องกันระแสไฟฟ้ารั่ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหาย ส่วนชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74