ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 21 พฤศจิกายน 2551 - 27 พฤศจิกายน 2551
ภาคเหนือ
อากาศเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-9 องศาเซลเซียส สำหรับสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ ไม้ผลที่อยู่ในระยะแทงช่อดอกควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นทรุดโทรม ตาดอกเหี่ยวแห้ง การออกดอกและติดผลลดลง ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้าง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง อากาศหนาวทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 13-16 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-11 องศาเซลเซียส ระยะนี้สภาพอากาศแห้งและมีลมแรง เกษตรกรที่ก่อไฟให้ความอบอุ่นแก่ตนเองควรดับให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ควรเลือกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีน้อย
ภาคกลาง
มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศเย็นส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง เนื่องจากระยะนี้สภาพอากาศแห้ง ทำให้น้ำระเหยมาก เกษตรกรจึงควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้งเพื่อรักษาความชื้นดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงกะทันหัน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน เป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ที่ป่วยควรแยกออกกลุ่มแล้วรีบรักษาเพื่อป้องกัน เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
ภาคตะวันออก
มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศเย็นส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส ไม้ผลที่อยู่ในระยะแทงช่อดอก เกษตรกรควรให้น้ำเมื่อเห็นดอกชัดเจนแล้ว โดยเริ่มให้ครั้งละน้อยๆแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ตาดอกเหี่ยวแห้งการออกดอกลดลง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งทางตอนล่างของภาคตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไป และในช่วงวันที่ 23-25 จะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป โดยมีฝนตกหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยอพยพสัตว์เลี้ยงไปใว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง รวมทั้งรักษาความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มให้สะอาด เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร สำหรับชาวสวนกาแฟควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคผลเน่าโดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายในสวน อนึ่ง ในระยะนี้ คลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74