ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 14 มกราคม 2552 - 20 มกราคม 2552
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 14-17 ม.ค. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-15 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 2-5 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-5 องศาเซลเซียส และจะมีหมอกในตอนเช้า กับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ลมอ่อน ในช่วงนี้บริเวณเทือกเขา และยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและอาจมีน้ำค้างแข็งได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ระวังการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และอาคารบ้านเรือน สำหรับสภาพอากาศที่แห้งเกษตรกรควรคลุมบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นและอุณหภูมิดิน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 14-15 ม.ค. อากาศหนาวถึงหนาวจัด และลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 7-15 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-7 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 16-20 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-5 องศาเซลเซียส โดยจะมีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นบริเวณเทือกเขาและยอดภูอาจเกิดน้ำค้างแข็งได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรโดยงดให้น้ำแก่พืชในตอนเย็น นอกจากนี้เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการหนาวเย็น ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งดับไฟที่จุดเพื่อให้ ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงให้สนิททุกครั้ง
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 14-15 ม.ค. มีลมแรง และอากาศหนาวทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 16-20 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-5 องศาเซลเซียส โดยจะมีหมอกในตอนเช้า ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นอาจทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสังเกตสัตว์เลี้ยงหากพบตัวที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่ม แล้วทำการรักษาเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 14-15 ม.ค. มีลมแรง และอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17-20 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-5 องศาเซลเซียส โดยจะมีหมอกในตอนเช้า เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ทำให้น้ำระเหยได้มาก เกษตรกรควรให้น้ำแก่ไม้ผล ที่อยู่ในระยะออกดอกอย่างพอเพียง เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ดอกเหี่ยวแห้งและร่วงหล่นการติดผลลดลง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงในช่วงดอกบาน เพื่อถนอมชีวิตแมลงที่มาช่วยผสมเกสร แต่ควรฉีดน้ำบริเวณทรงพุ่มแทนจะทำให้การติดผลดีขึ้น
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ฝั่งตะวันออกอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส โดยตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไป มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย ตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส และมีเมฆบางส่วน โดยในช่วงวันที่ 17-20 ม.ค. มีฝนบางแห่ง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และระวังโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สำหรับชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก และดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน ส่วนผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรดูแลอุณหภูมิน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน ทำให้อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย อนึ่งในช่วงวันที่ 14-16 ม.ค.บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร และอาจเกิดคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง เกษตรกรและผู้ทำประมงชายฝั้งควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74