ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 29 พฤษภาคม 2552 - 04 มิถุนายน 2552
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรติดตามเฝ้าระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวสวนไม้ผลควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ในสภาพอากาศชื้นแฉะเช่นนี้ โดยกำจัดวัชพืช ดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในพื้นที่เพาะปลูก สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรสำรองน้ำไว้ให้เพียงพอแก่พืชสำหรับช่วงการเจริญเติบโตในระยะต่อไปซึ่งอาจมีปริมาณฝนน้อย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 29-31 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องทำงานในที่ชื้นแฉะควรสวมถุงมือและรองเท้าบูทเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู อนึ่ง พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไปซึ่งฝนอาจทิ้งช่วง ช่วยลดการขาดแคลนน้ำของพืชตลอดช่วงการเจริญเติบโต
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากในช่วงวันที่ 29-31 พ.ค. ระยะนี้มีฝนตกชุกกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนไม่ให้ฝนสาดและลดความอับชื้น อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดปัญหาสัตว์เจ็บป่วยด้วยโรคที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน เช่น โรคระบบทางเดินหายใจและโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกผักรอบใหม่ในระยะนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราก่อนปลูก รวมทั้งจัดการระบบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังหากมีฝนตกหนัก
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 29-31 พ.ค. ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำให้พร้อมใช้งาน ป้องกันน้ำขังในช่วงที่มีฝนตกหนัก ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหาวัสดุกั้นขอบบ่อเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าบ่อมากเกินไปจนทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็วโดยเฉพาะบ่ออนุบาล จะทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 29-31 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทางด้านฝั่งตะวันตกของภาคควรระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มควรเตรียมระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันจนชื้นแฉะ เกษตรกรควรระวังป้องกันการระบาดของโรคพืชจำพวกเชื้อราชนิดต่างๆ ส่วนชาวสวนไม้ผลควรหมั่นกำจัดผลที่เน่าและร่วงหล่นออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค อนึ่ง ในช่วงวันที่ 29-31 พ.ค. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74