พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 1 -7 กรกฎาคม 2552

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2009 08:21 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 01 กรกฎาคม 2552 - 07 กรกฎาคม 2552

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 1-3 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงนี้ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังและป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวสวนลำไยควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน รวมทั้งระวังศัตรูพืชชนิดต่างๆที่มักระบาดในช่วงนี้ เช่น หนอนเจาะขั้วผลและมวนลำไย เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินผลผลิตให้เสียหาย คุณภาพลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 4-7 ก.ค. มีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากสำหรับข้าวนาปีควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบหงิกและโรคขอบใบแห้ง เป็นต้น อนึ่ง พื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะบริเวณตอนกลางและตอนล่างของภาค อาจมีฝนทิ้งช่วงในระยะต่อไป เกษตรกรจึงควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืชในช่วงการเจริญเติบโต

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 1-3 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ดังนั้นผู้ที่ปลูกพืชไร่ในพื้นที่ดังกล่าวควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก และป้องกันการเกิดโรครากเน่าหรือโรคเหี่ยวเน่าแดงในอ้อย ซึ่งอาจระบาดได้ง่ายในสภาพชื้นสูง

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจายเกือบตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 4-7 ก.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ชาวสวนยางพาราควรกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในพื้นที่เพาะปลูก และควรทาสารป้องกันเชื้อราบริเวณหน้ากรีดยางหลังกรีด

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆเกือบตลอดช่วง ในระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนลดน้อยลง ผู้ที่ปลูกพืชต้องดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น ป้องกันการขาดน้ำทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ต้นแคระแกร็น ส่วนชาวสวนไม้ผลควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม และระวังศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆ ซึ่งจะทำลายผลผลิตให้เสียหาย และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ