พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 3 - 9 กรกฎาคม 2552

ข่าวทั่วไป Friday July 3, 2009 15:10 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 03 กรกฎาคม 2552 - 09 กรกฎาคม 2552

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 4-8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต่อจากนั้นมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ในช่วงนี้ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังและป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวสวนกาแฟควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนผู้ที่ปลูกผักควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิดต่างๆที่มักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 4-7 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป มีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงนี้อาจมีน้ำไหลเข้าแปลงนา ชาวนาควรใช้ตะแกรงดักตามทางน้ำไหล เพื่อดักจับหอยเชอรี่ ป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ในนาข้าว อนึ่ง เกษตรกรที่จำเป็นต้องทำงานในที่ชื้นแฉะควรสวมถุงมือและรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป โดยในช่วงวันที่ 5-7 ก.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลอุณหภูมิและสภาพน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนควรดูแลสภาพโรงเรือนให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ ช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดต่างๆที่มักเกิดในฤดูฝน

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปโดยวันที่ 6-8 ก.ค. มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ในช่วงที่มีฝนตกหนัก ชาวสวนพริกไทยควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืช ซึ่งอาจทำให้รากพืชขาดอากาศหายใจและอาจทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าด้วย ส่วนชาวสวนไม้ผลควรกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในพื้นที่เพาะปลูก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย โดยในช่วงวันที่ 7-8 ก.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ทางตอนบนของภาค ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆเกือบตลอดช่วง ในระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ผู้ที่ปลูกผักต้องดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ ป้องกันการขาดน้ำทำให้ชะงักการเจริญเติบโต และต้นแคระแกร็น ผลผลิตด้อยคุณภาพ รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆ ซึ่งจะทำลายผลผลิตให้เสียหาย อนึ่ง ผู้ที่เพาะพันธุ์กล้าไม้ผลและยางพาราควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ