พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 31 กรกฎาคม 2552 - 06 สิงหาคม 2552

ข่าวทั่วไป Friday July 31, 2009 14:25 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 31 กรกฎาคม 2552 - 06 สิงหาคม 2552

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.- 4 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป โดยมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 5-6 ส.ค. มีฝนเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย เนื่องจากระยะนี้ปริมาณฝนจะน้อยลง ผู้ที่ปลูกพืชผักควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนและแมลงชนิดต่างๆ ซึ่งจะกัดกินทำให้พืชผักเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.-4 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย โดยมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตอนบนและตะวันออกของภาค หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 5-6 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายส่วนมากทางตอนล่างของภาค เนื่องจากระยะนี้สภาพอากาศยังคงชื้น ผู้ที่ปลูกพืชไร่ควรระวังการระบาดของศัตรูพืชต่างๆ เช่น หนอนเจาะลำต้นในข้าวโพด หนอนเจาะฝักในพืชตระกูลถั่วต่างๆ

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ก.ค. -3 ส.ค. มีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับควรลดความชื้นในโรงเรือนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราชนิดต่างๆ รวมทั้งหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบต้นที่เป็นโรคควรถอนทิ้งและทำลาย เพื่อป้องกันการระบาดภายในโรงเรือน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.- 4 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 5-6 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายส่วนมากบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าบ่อ ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงจนสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย อนึ่ง ช่วงวันที่ 1-5 ส.ค. คลื่นห่างฝั่งสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 4-6 ส.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำให้พร้อมใช้งาน และจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศหายใจและตายได้ รวมทั้งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่า อนึ่ง ช่วงวันที่ 1-5 ส.ค. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ