ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 17 สิงหาคม 2552 - 23 สิงหาคม 2552
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 17-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 22-23 ส.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจายส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่า ไหลหลาก สำหรับบริเวณที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากน้ำลดลงแล้วควรรีบปรับปรุงฟื้นฟูสภาพพื้นที่การเกษตร ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและทาแผลรอยตัดด้วย สารป้องกันเชื้อรา เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 17-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 22-23 ส.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ขอให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในระยะนี้ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้น สภาพอากาศชื้น ชาวนาจึงควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรารวมทั้งหอยเชอรี่ที่มักมากับน้ำที่ไหลเข้าแปลงนา สำหรับเกษตรกรที่จำเป็นต้องทำงานในที่ชื้นแฉะควรสวมถุงมือและรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 17-18 ส.ค. เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น พื้นที่การเกษตรรอบๆบริเวณลุ่มน้ำควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะสัตว์ เท้ากีบเพื่อป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคกีบเน่า
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 17-18 ส.ค. สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับชาวสวนยางพาราควรกำจัดวัชพืชให้โล่งเตียน อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน และควรทาสารป้องกันเชื้อราบริเวณหน้ากรีดยาง ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ใน ระยะนี้ควรชุบท่อนพันธุ์และคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 17-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 22-23 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายสำหรับบริเวณที่มีปริมาณฝนน้อย อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาค เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโตและพืชที่มีระบบรากตื้นอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำจนชะงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74