พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 14 ตุลาคม 2552 - 20 ตุลาคม 2552

ข่าวทั่วไป Wednesday October 14, 2009 13:51 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 14 ตุลาคม 2552 - 20 ตุลาคม 2552

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 14-16 ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส และมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17-20 ต.ค. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ช่วงนี้เริ่มเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้นเกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อย่างเพียงพอ สำหรับสวนมะขามหวานควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราแป้งซึ่งมักระบาดในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว พื้นที่การเกษตรโดยทั่วไปควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดหน้าแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส และมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 16-20 ต.ค. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ในช่วงนี้สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ระวังสุขอนามัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะ แตกกอถึงออกรวง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนโดยเฉพาะหนอนกอและหนอนกระทู้คอรวง ซึ่งจะทำลายข้าวในนา ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ช่วงต่อจากนี้ไปเกษตรกร ควรวางแผนการใช้น้ำในพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสม เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 14-17 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 18-20 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ในบางพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ รวมทั้งป้องกันโรคระบาดที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคน้ำกัดเท้า และโรคตาแดง ส่วนผู้ที่ปลูกไม้ดอก ในระยะนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิต ด้อยคุณภาพ หากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบกำจัดก่อนจะแพร่ขยายเป็นบริเวณกว้าง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 14-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 19-20 ต.ค.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกร ควร เตรียมระบบระบายน้ำในแปลงพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์อยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย หากพบ ตัวที่ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม แล้วรีบรักษา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง เนื่องจากระยะต่อไปภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณฝนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรจึงควรเฝ้าระวังติดตามสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง และดูแลอุปกรณ์สำหรับระบายน้ำให้อยู่ในสภาพร้อมใช้งาน สำหรับชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ