พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 9 พฤศจิกายน 2552 - 15 พฤศจิกายน 2552

ข่าวทั่วไป Monday November 9, 2009 15:19 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 09 พฤศจิกายน 2552 - 15 พฤศจิกายน 2552

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 9-12 พ.ย. อากาศจะอบอุ่นขึ้น และมีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. มีฝนเป็นแห่งๆ และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส บริเวณที่มีหมอกหนา เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรไปมา ผู้ที่ปลูกพืชผักควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ เช่น โรคราน้ำค้าง ซึ่งอาจระบาดได้ในระยะนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 9-11 พ.ย. อากาศจะอบอุ่นขึ้น และมีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยจะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 12-15 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายและอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส ผู้ที่ต้องการปลูกพืชรุ่นใหม่ในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย สำหรับพืชไร่และพืชผักที่กำลังเจริญเติบโตควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดไว้ด้วย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 9-12 พ.ย. อากาศจะอบอุ่นขึ้น และมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับผู้ที่ปลูกไม้ผล ควรตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชบริเวณสวนให้โล่งเตียน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชจากเชื้อรา

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 9-12 พ.ย. อากาศจะอบอุ่นขึ้น และมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรทิ้งไว้กลางแจ้งเพราะอาจจะเปียกฝนเสียหาย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 14-15 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ และมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 14-15 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในระยะนี้ปริมาณฝนจะลดลง พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วม หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบพื้นฟูสภาพโดยเร็ว สำหรับบริเวณที่ยังมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขอนามัยสำหรับตนเองและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วและสัตว์ มีพิษที่มากับน้ำ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ