พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 28 ธันวาคม 2552 - 03 มกราคม 2553

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2009 15:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 28 ธันวาคม 2552 - 03 มกราคม 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 28-31 ธ.ค. มีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1-2 ม.ค. มีฝนบางแห่ง และอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรระมัดระวังอุบัติเหตุในการขับขี่ยานพาหนะในบริเวณที่มีหมอกหนา ระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรป้องกันการระบาดของโรคจำพวกเชื้อราในพืชไร่และพืชผักไว้ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 28-29 ธ.ค. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1-2 ม.ค. จะมีฝนบางแห่งบริเวณทางตอนบนของภาค เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทิ้งไว้กลางแจ้งในช่วงวันที่ 28-29 ธ.ค. และ 1-2 ม.ค. เพราะอาจเปียกฝนเสียหายได้ ส่วนฝ้ายที่สมอแตกฟูแล้ว เกษตรกรควรรีบ เก็บเกี่ยว ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในไร่เพราะปุยฝ้ายอาจเปียกชื้นจากหมอกและฝนในช่วงนี้

ภาคกลาง

อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว ในช่วงวันที่ 28-29 ธ.ค. มีฝนบางแห่ง ปริมาณฝนที่ตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชด้วย สำหรับฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวไม่ควรเผาทิ้งในนา เพราะควันไฟอาจพัดลอยไปปกคลุมถนนทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง ควรนำฟางข้าวไปคลุมดินเพื่อช่วยสงวนความชื้นในดิน

ภาคตะวันออก

อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับบริเวณเทือกเขาอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค. มีฝนบางแห่งส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง เกษตรกรจึงควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตที่ตากไว้กลางแจ้ง ระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่สภาพอากาศโดยทั่วไปแห้งอาจมีแมลงศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรแดงระบาดทำลายไม้ผลที่กำลังออกดอกและติดผลอ่อน เกษตรกรควรป้องกันกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ หลังจากนั้น มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 28-31 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1- 2 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนมากบริเวณตอนล่างของภาค ระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการกรีดยางพารา แต่ปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้อาจไม่เพียงพอสำหรับพืชที่กำลังเจริญเติบโต ดังนั้นเกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ