พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 27 มกราคม 2553 - 02 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday January 27, 2010 14:46 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 27 มกราคม 2553 - 02 กุมภาพันธ์ 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 29 ม.ค. — 2 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ เกษตรกรควรระมัดระวังอันตรายขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา ส่วนไม้ผลที่กำลังออกดอก ชาวสวนควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น การติดผลลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง บริเวณด้านตะวันตกและตอนบนของภาค บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 29 ม.ค. — 2 ก.พ. อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้าแลมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ระยะนี้ฝนตกน้อย เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่และผักชนิดต่างๆควรดูแลให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติม รวมทั้งคลุมโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น หญ้าแห้งและฟางข้าวเพื่อลดการระเหยของน้ำจากดิน ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรใช้น้ำทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาค หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 29 ม.ค. — 2 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับ มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ระยะนี้แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณน้อยไม่เพียงพอสำหรับไม้ดอกและผักชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น เกษตรกรจึงควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและคลุมโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งระวังป้องกันการระบาดของเพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ด้วย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 29 ม.ค. — 2 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้ากับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากบริเวณชายฝั่ง สำหรับมะม่วงที่กำลังออกดอกและติดผลอ่อน ชาวสวนควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของเพลี้ยจักจั่นและราดำ ซึ่งจะทำให้ดอกและ ผลอ่อนร่วงหล่น ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำตลอดช่วงแล้งนี้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 27-30 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 31 ม.ค. — 2 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึง เป็นแห่ง ๆ ตลอดช่วง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกผักชนิดต่างๆบริเวณตอนบนของภาคควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่ปลูกอย่างเพียงพอและคลุมโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำจากดิน รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ