พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 10 มีนาคม 2553 - 16 มีนาคม 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday March 10, 2010 14:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 10 มีนาคม 2553 - 16 มีนาคม 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-11 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้น อุณหภูมิจะสูงขึ้นมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตรจากสภาวะพายุฝนฟ้าคะนองกับ ลมกระโชกแรง นอกจากนี้ควรสำรวจความมั่นคงแข็งแรงของวัสดุอุปกรณ์ที่ผูกยึดหรือค้ำยันกิ่งของ ไม้ผล รวมทั้งโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และในช่วงที่อากาศร้อนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรตรวจสอบปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันสัตว์เครียดอ่อนแอและติดโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-11 มี.ค. โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะสูงขึ้นมีอากาศร้อน และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ในช่วงนี้อากาศแปรปรวนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ และในช่วงที่อากาศร้อนจัดผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและจัดหาน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียดอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 10-12 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะสูงขึ้นมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ในช่วงนี้มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ส่วนในระยะครึ่งหลังของช่วงอากาศร้อนและแห้งทำให้น้ำระเหยมาก ดังนั้นควรให้น้ำแก่พืชโดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น เช่น ไม้ดอกและผักชนิดต่างๆ และคลุมโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อสงวนความชื้นในดิน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 10-12 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ ต่อจากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นมีอากาศร้อนทางตอนบนของภาคและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรผูกยึดกิ่งและค้ำยันลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มขณะฝนฟ้าคะนองและลมแระโชกแรง สำหรับปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืชโดยเฉพาะต้นที่กำลังเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมเพื่อป้องกันผลแคระแกร็นและร่วงหล่น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 10-13 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ต่อจากนั้น มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 10-13 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นมีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับบริเวณที่มีฝนแล้งชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการลุกลามของอัคคีภัยภายในสวน โดยทำแนวกันไฟรอบสวน สำหรับเกษตรกรที่ปลูกผักโดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาคควรให้น้ำสม่ำเสมอ รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรชนิดต่างๆ อนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 10-12 มี.ค. คลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ