พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 12 มีนาคม 2553 - 18 มีนาคม 2553

ข่าวทั่วไป Friday March 12, 2010 14:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 12 มีนาคม 2553 - 18 มีนาคม 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-16 มี.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 17-18 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ช่วงนี้อากาศร้อน ทำให้อัตราการคายระเหยของน้ำสูง ผู้ที่ปลูกพืชระบบรากตื้น เช่น พืชผักและ ไม้ดอกไม้ประดับ ควรรดน้ำพืชให้เหมาะสม และควรคลุมบริเวณแปลงปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อสงวนความชื้นในดิน รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-15 มี.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น อากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนเช่นนี้ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ ควรเพิ่มน้ำดื่มสำหรับสัตว์ให้เพียงพอ รวมทั้งควรจัดเตรียมร่มเงาให้แก่สัตว์เลี้ยงในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เพื่อป้องกันสัตว์เครียดจากสภาพอากาศดังกล่าว ส่วนผู้ที่ปลูกพืชไร่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 12-15 มี.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส และใน ช่วงวันที่ 16-17 มี.ค.มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ในช่วงนี้อากาศร้อนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรตรวจสอบปริมาณน้ำอย่าปล่อยให้ลดต่ำจนเกินไป เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิและสภาพน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันจนเครียด อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ควรคำนึงถึงปริมาณน้ำที่สำรองไว้ และควรเลือกพืชที่ทนแล้งและต้องการน้ำน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 12-15 มี.ค. อุณหภูมิสูงขึ้นมีอากาศร้อนทางตอนบนของภาคและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆสำหรับปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืชโดยเฉพาะต้นที่กำลังเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมเพื่อป้องกันผลแคระแกร็นและร่วงหล่น และคลุมบริเวณโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อสงวนความชื้นในดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 12-13 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้น มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 12-13 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้น มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ เนื่องจากทางตอนล่างของภาคปริมาณฝนน้อย อากาศแห้ง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ส่วนชาวสวนยางพาราควรทำแนวกันไฟรอบสวน เพื่อป้องกันการลุกลามของอัคคีภัย อนึ่ง ช่วงวันที่ 12 และ 16-18 มี.ค. ชาวประมงควรระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือจากคลื่นลมในอ่าวไทยที่มีกำลังแรงขึ้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ