พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 29 มีนาคม 2553 - 04 เมษายน 2553

ข่าวทั่วไป Monday March 29, 2010 14:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 29 มีนาคม 2553 - 04 เมษายน 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ต่อจากนั้นอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาองศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. เกษตรกรควรระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง และไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งอาจเปียกเสียหายได้ สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเตรียมดินให้พร้อม รอให้มีฝนตกสม่ำเสมอ แล้วค่อยปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโตของพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. อุณหภูมิสูงขึ้นและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันกับฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1 -4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรเตรียมภาชนะไว้กักเก็บน้ำฝนและหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง ส่วนบริเวณที่มีอากาศร้อนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรปรับปริมาณน้ำและจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสม และพรางแสงเพิ่มร่มเงาให้สัตว์หลบพัก สำหรับโคและกระบือควรจัดหาน้ำให้อย่างเพียงพอ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ

ภาคกลาง

อากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกือบตลอดช่วง เกษตรกรควรเตรียมภาชนะไว้กักเก็บน้ำฝน สำหรับบริเวณที่มีอากาศร้อนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนโดยฉีดน้ำบริเวณหลังคา หรือชุบน้ำด้วยวัสดุอุ้มน้ำแล้วนำไปวางในโรงเรือน รวมทั้งควรหมั่นคัดแยกสัตว์ที่ป่วยหรือเป็นโรคออกจากกลุ่ม และรีบให้การรักษา

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 29-30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 มี.ค.- 4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส เกษตรกรควร เกษตรกรควรเตรียมภาชนะไว้กักเก็บน้ำฝน และหมั่นสำรวจสวน เพราะสภาพอากาศที่ร้อนอาจทำให้มีแมลงศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรชนิดต่าง ๆ แพร่ระบาด เช่น หนอนเจาะขั้วผลในเงาะและหนอนเจาะเปลือกทุเรียน หากพบควรรีบกำจัด

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 29 มี.ค. — 1 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ตลอดสัปดาห์ เกษตรกรควรกักเก็บน้ำฝนที่ตกไว้ใช้ในระยะต่อไป สำหรับสวนผลไม้ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล แล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งกำจัดทำลายผลที่เน่าเสีย ร่วงหล่น และเปลือกของไม้ผล ไม่ควรกองไว้ในสวนเพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ