พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 7 - 13 เมษายน 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday April 7, 2010 14:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 07 เมษายน 2553 - 13 เมษายน 2553

ภาคเหนือ

มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 38-43 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 8-9 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่งกับถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง จัดทำค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังให้ผลผลิต รวมทั้งไม่ตากผลผลิตทางการเกษตรทิ้งไว้กลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน และดื่มน้ำสะอาดให้บ่อยครั้งขึ้น เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้ควรกักเก็บน้ำฝนสำรองไว้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 7-9 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงกับลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรกักเก็บน้ำฝนสำรองไว้ใช้และระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บ ไม่ตากผลผลิตทางการเกษตรทิ้งไว้กลางแจ้ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรปรับลดอุณหภูมิในโรงเรือนให้เหมาะสม เพื่อลดอาการเครียดซึ่งอาจทำให้สัตว์ อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางกับลมกระโชกแรงบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกษตรกรควรกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้และระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนอาจมีแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก เพลี้ยไฟและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายข้าว รวมทั้งหนอนเจาะฝักข้าวโพด เป็นต้น เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันกำจัด

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียสและมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรควรเตรียมภาชนะกักเก็บน้ำฝน จัดทำค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังให้ผลผลิต หลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง นอกจากนี้ควรหมั่นสำรวจสวนและแปลงปลูกพืช เพราะสภาพอากาศที่ร้อนอาจมีแมลงศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรชนิดต่าง ๆ แพร่ระบาด เช่น เพลี้ยไฟมังคุด และหนอนเจาะผลทุเรียน หากพบควรรีบกำจัด

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากบริเวณทางตอนล่างของภาค เกือบตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนมากบริเวณทางตอนล่างของภาค เกือบตลอดช่วง เกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในระยะต่อไป สำหรับทุเรียนควรตัดแต่งผลไม่ให้มีมากหรือชิดติดกันเกินไป หรืออาจใช้วัสดุ เช่น กาบมะพร้าว หรือเศษไม้กั้นระหว่างผลเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยของหนอนเจาะผลเข้าไปวางไข่หรือหลบอาศัยอยู่

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ