พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 9 - 15 เมษายน 2553

ข่าวทั่วไป Friday April 9, 2010 15:45 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 09 เมษายน 2553 - 15 เมษายน 2553

ภาคเหนือ

มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 38-43 องศา เว้นแต่วันที่ 15 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในสภาพอากาศร้อนจัดเช่นนี้จะมีอัตราการคายระเหยน้ำสูง ผู้ที่ปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ควรดูแลให้น้ำแก่พืชสม่ำเสมอและคลุมแปลงปลูกเพื่อรักษาความชื้นในดิน สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรปรับลดอุณหภูมิในโรงเรือน เพื่อลดอาการเครียดซึ่งอาจทำให้สัตว์ อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนั้นเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน และดื่มน้ำสะอาดให้บ่อยครั้งขึ้น เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศา และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 14-15 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรจึงควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งซ่อมแซมบ้านเรือนให้แข็งแรง เนื่องจากระยะนี้อากาศร้อนอบอ้าว ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรปรับสภาพโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน

ภาคกลาง

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศา เว้นแต่ในวันที่ 15 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งกับลมกระโชกแรงบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ .สำหรับบริเวณที่อากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรถ่ายเทหมุนเวียนน้ำช่วยปรับอุณหภูมิไม่ให้เปลี่ยนแปลงมาก รวมทั้งควรควบคุมปริมาณอาหารที่ให้ เพื่อลดอาหารไม่ให้เหลือหมักหมม ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ควรจัดทำร่มเงาให้สัตว์หลบพักอาศัยในช่วงที่มีแสงแดดจัด

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศา และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 14-15 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไป ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรตรวจสอบวัสดุที่ใช้ผูกยึดและค้ำยันกิ่งไม้ผลให้แข็งแรง โดยเฉพาะกิ่งที่รับน้ำหนักมาก เพื่อป้องกันกิ่งฉีกขาด เมื่อมีลมกระโชกแรง นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชสม่ำเสมอ และคลุมโคนต้นพืชเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เพื่อป้องกันผลแคระแกร็นและร่วงหล่น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากบริเวณทางตอนล่างของภาค เกือบตลอดช่วงส่วนทางฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนมากบริเวณทางตอนล่างของภาค เกือบตลอดช่วง ในบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไปด้วย ส่วนทางตอนบนของภาคซึ่งมีฝนตกน้อย ชาวสวนควรดูแลให้น้ำแก่ไม้ผลที่กำลังติดผลอ่อน โดยให้ในปริมาณน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อป้องกันผลอ่อนร่วง สำหรับทุเรียนควรตัดแต่งผลไม่ให้มีมากหรือชิดติดกันเกินไป หรืออาจใช้วัสดุ เช่น กาบมะพร้าว หรือเศษไม้กั้นระหว่างผลเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยของหนอนเจาะผลเข้าไปวางไข่หรือหลบอาศัยอยู่

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ