พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 23 - 29 เมษายน 2553

ข่าวทั่วไป Friday April 23, 2010 14:42 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 23 เมษายน 2553 - 29 เมษายน 2553

ภาคเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-42 องศา โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเป็นแห่งๆ และมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 24-28 เม.ย. เกษตรกรควรซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างให้แข็งแรง ผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผล โดยเฉพาะกิ่งที่รับน้ำหนักมาก เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและโค่นล้ม ระยะนี้แม้ว่าจะมีฝนตก แต่สภาพอากาศโดยทั่วไปค่อนข้างแห้ง เกษตรกรควรหมั่นตรวจสอบศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยชนิดต่างๆ โดยเฉพาะข้าวนาปรังอาจมีเพลี้ยไฟและเพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาดทำลาย หากพบควรรีบกำจัด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศา โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 23-25 และ 27-29 เม.ย. เกษตรกรควรซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและใกล้ต้นไม้ใหญ่ ขณะเกิดพายุ และไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรทิ้งไว้กลางแจ้ง รวมทั้งเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในระยะต่อไป

ภาคกลาง

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-41 องศา โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 24-28 เม.ย. เกษตรกรควรระวังอันตรายจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ล้มทับขณะเกิดลมกระโชกแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรปรับอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ปลอดโปร่งระบายความร้อนได้ดี เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลที่กำลังให้ผลผลิต รับน้ำหนักมากให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักเมื่อมีลมกระโชกแรง และดูแลบริเวณโคนต้นพืชอย่าให้มีการกองสุมของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งจะสะสมความชื้น และนำมาซึ่งโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกอากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศา โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกอากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนมากบริเวณทางตอนล่างของภาคเกือบตลอดช่วง ในระยะต่อไปปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรจัดเตรียมระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในบริเวณแปลงปลูกพืช สำหรับชาวสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดการสะสมของความชื้นบริเวณสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืช อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำจนชะงักการเจริญเติบโตและลำต้นแคระแกร็น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ได้คาดหมายอากาศเพื่อการเกษตรใว้ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกแล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ