พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 30 สิงหาคม 2553 - 05 กันยายน 2553

ข่าวทั่วไป Monday August 30, 2010 14:16 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 30 สิงหาคม 2553 - 05 กันยายน 2553

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปถึงทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-3 ก.ย. มีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่ เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และ ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งดูแลสุขภาพ เพราะอาจป่วยเป็นโรคหวัดและโรคทางเดินอาหาร สำหรับสัตว์เลี้ยงควรอพยพไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง นอกจากนี้ควรสำรองอาหารและน้ำดื่มสะอาด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-3 ก.ย. มีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่ เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทางตอนบนของภาค และที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำ ล้นตลิ่ง รวมทั้งอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงเช่นนี้ ชาวนาควรป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ และโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าวนาปี

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 30-31 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปถึงทั่วไป และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มควรป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วม รวมทั้งจัดทำทางระบายน้ำออกจาก แปลงปลูก สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะอาจจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปถึงทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 2-4 ก.ย. มีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่ เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา และที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ที่ปรับตัวไม่ทัน จะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง ส่วนฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาฝนที่ตกในหลายพื้นที่ของภาคใต้ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ประกอบกับระยะนี้ปริมาณฝนทางฝั่งตะวันออกยังไม่มาก เกษตรกรจึงควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำ สำหรับไม้ผลที่เก็บผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เพื่อให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น ระบายอากาศได้ดี ไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ