พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 8 - 14 กันยายน 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday September 8, 2010 14:56 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 08 กันยายน 2553 - 14 กันยายน 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ย. ฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางตอนบนของภาค และในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคน้ำกัดเท้า และโรคตาแดง นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนที่รั่วซึม เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เปียกชื้น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากทางด้านตอนบนของภาค และในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มควรป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วม รวมทั้งจัดทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะอาจจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 8 -9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วงนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูงข้าวนาปีที่กำลังเจริญเติบโตควรระวังและป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนกระทู้กล้า และหนอนห่อใบข้าวซึ่งจะกัดกินต้นข้าวเสียหาย รวมทั้งการระบาดโรคพืชจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ และและโรคใบจุดสีน้ำตาล

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ในช่วงวันที่ 10-14 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่และผักชนิดต่างๆ ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างและโรคใบจุด เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนอย่าให้อับชื้น และพื้นคอกอย่าให้ชื้นแฉะ ป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเส้นดำ โรคใบยางร่วงและลูกยางเน่า โดยดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ตลอดจนกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้น สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผล เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รวมทั้งกำจัดเปลือกและผลที่เน่าเสีย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช อนึ่ง ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ให้ไว้ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกแล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ