บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัททั้งในส่วนของการ ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด และฐานะทางการเงิน นอกจากนี้ ยัง สะท้อนถึงธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารของบริษัทที่กำลังเติบโตด้วย ทั้งนี้ การเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ช่วยเอื้อให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ กว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลอดจน อัตราการทำกำไรที่อ่อนตัวลง และกฎระเบียบที่เข้มงวดซึ่งอาจมีผลให้ความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะที่แข็งแกร่ง ในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไป อีกทั้งยังคงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งด้วยระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ นอก จากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มยอดขายและกำไรในธุรกิจเบียร์ รวมทั้งจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดและ รักษาสถานะทางเครดิตให้อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ การลงทุนหรือการซื้อกิจการใดใดในอนาคตควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อ สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มจำนวน 101 แห่งซึ่ง เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่หลากหลายทั้งการผลิตสุรา (สุราขาวและสุราสี) เบียร์ เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ รวมทั้งธุรกิจ อาหาร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทมีหลายประเภทโดยแต่ละประเภทล้วนมีตราสัญลักษณ์สินค้าที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี เช่น “รวงข้าว” สำหรับสุราขาว “หงส์ทอง” “แสงโสม” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุราสี และ “ช้าง” สำหรับเบียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “โออิชิ” ด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่รายหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวัน ออกเฉียงใต้และมีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าอีโคโนมี่หรือสินค้า ราคาประหยัด ปัจจุบันสินทรัพย์ของบริษัทประกอบด้วยโรงกลั่น 18 แห่งและโรงเบียร์ 3 แห่งในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตต่อ ปีที่ระดับ 1,550 ล้านลิตรสำหรับเบียร์และ 819 ล้านลิตรสำหรับสุรา นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์ และอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและมีอำนาจ ต่อรองในการซื้อวัตถุดิบซึ่งส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีราคาขายที่แข่งขันได้ ยิ่งกว่านั้น ระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้าง ขวางซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศยังมีส่วนเสริมให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ปัจจุบันระบบเครือข่ายการจัดจำหน่าย ของบริษัทประกอบด้วยตัวแทนจำหน่าย 708 ราย พนักงานขายกว่า 1,300 คน และรถขนส่งสินค้ากว่า 4,400 คันซึ่งรองรับร้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ
บริษัทไทยเบฟเวอเรจครองตำแหน่งผู้นำในตลาดสุราไทยเนื่องจากคู่แข่งรายอื่น ๆ ล้วนเป็นผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นที่มี ฐานการผลิตขนาดเล็ก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้านั้นก็มีราคาสูงและเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม การมีตราสัญลักษณ์สินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ รู้จักกันดีและมีระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางทำให้บริษัทคงสถานะผู้นำตลาดเอาไว้ได้ ส่วนในตลาดเบียร์นั้น บริษัท เป็นหนึ่งในผู้แข่งขันหลัก 2 รายในตลาดเบียร์ไทย โดยคู่แข่งสำคัญของบริษัทคือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานภายใต้ ตราสัญลักษณ์สินค้า “สิงห์” ทั้งบริษัทไทยเบฟเวอเรจและกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันมากกว่า 90% ของ ตลาดเบียร์ไทย ซึ่งคาดว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทไทยเบฟเวอเรจในปี 2553 จะอยู่ที่ 33.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 32.5% ในปี 2552 บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหารโดยการซื้อกิจการของ บริษัท โออิชิ จำกัด (มหาชน) ในปี 2551 แม้ว่าธุรกิจดังกล่าวในปัจจุบันจะยังสร้างสัดส่วนรายได้ไม่มากก็ตาม แต่ก็มีโอกาสเติบโตสูงเมื่อพิจารณา จากอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่เกิน 20% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากอันเป็นผลมาจากความสามารถที่เข้มแข็งในการสร้าง กระแสเงินสด ตลอดจนระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ บริษัทรายงานยอดขายสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ที่ระดับ 86,680 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้การจำหน่ายสุราเป็นหลัก รายได้รวมของบริษัทเติบโตที่ระดับ 14.2% จากช่วงเดียวกันของปี ก่อนอันเป็นผลมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจสุรา ตลอดจนยอดขายเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นถึง 41% และยอดขายเบียร์ที่ปรับตัวดีขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จาก การขายอยู่ที่ประมาณ 18%-21% ระหว่างปี 2549-2552 แต่กำไรลดลงจาก 18.2% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 15.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาที่เพิ่มขึ้นของวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่ กากน้ำตาล และน้ำตาล รวมถึงค่าใช้จ่ายใน การส่งเสริมและทำการตลาดที่สูงในกลุ่มผลิตภัณฑ์เบียร์ นอกจากนี้ การขาดทุนในธุรกิจเบียร์ก็มีส่วนทำให้บริษัทมีกำไรลดลง เมื่อ พิจารณาจากระดับค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมทางการตลาดและการสร้างตราสินค้าที่อยู่ในระดับสูงและผลกำไรในธุรกิจสุราที่อ่อนตัว ลงแล้วคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในอนาคต
บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานต่อปีประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาทระหว่างปี 2551-2552 และที่ระดับ 9,611 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ระดับเงินทุนจากการดำเนินงานในปัจจุบันนับว่ามีเพียงพอสำหรับใช้ชำระหนี้ใน ช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยอยู่ที่ระดับ 123.4% ใน ปี 2552 และ 67.4% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับต่ำ ระหว่าง 18%-24% ในช่วงปี 2551-2552 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 20.6% ณ เดือนกันยายน 2553 ส่วนหนึ่งเนื่องจาก การกู้ยืมระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบ ทั้งนี้ หากบริษัทไม่มีแผนการซื้อกิจการโดยการกู้ยืมเงินจำนวน มากคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
เมื่อพิจารณาจากยอดขาย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมในช่วงปี 2547- 2552 ที่ระดับ 3% การบริโภคเบียร์มีความแปรปรวนมากกว่าการบริโภคสุรา โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของการบริโภค เบียร์ในช่วงปี 2544-2550 อยู่ที่ระดับ 9% ทว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2551 ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลง 4.3% นอกจากนี้ การหดตัวของภาวะเศรษฐกิจ ผนวกกับการขึ้นภาษีสรรพสามิตยังทำให้การบริโภคลดลงไปอีกประมาณ 11.7% ในปี 2552 ทำให้ผู้ บริโภคเบียร์บางส่วนเปลี่ยนไปบริโภคสุราที่ผลิตในประเทศแทน ในทางกลับกัน การบริโภคสุราโดยรวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย สะสมในระหว่างปี 2547-2552 ที่ระดับ 5% จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบุว่า ปริมาณการบริโภคเบียร์ในปี 2553 ลดลง 2.7% ในขณะที่การบริโภคสุราคาดว่าจะมีการเติบโตในอัตราเดิมบนพื้นฐานที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวและอำนาจซื้อ ของผู้บริโภคสูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมจะเติบโตในระดับปานกลางซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายสุรา ในประเทศที่สูงขึ้น รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่มากขึ้น และอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบและข้อจำกัด ต่าง ๆ ที่เข้มงวดยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับผู้ผลิตเบียร์และสุราต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าว -- จบ
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2553 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บ ไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่า ในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอ แนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือ ของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะ อื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิ ได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควร ประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิต นี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการ กระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating_information/rating_criteria.html