บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยของบริษัทที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากความเสี่ยงที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในบริเวณมาบตาพุด ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของบริษัทในระยะยาว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะค่อย ๆ เพิ่มกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทในปี 2554 และปี 2555 ตามลำดับ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโกลว์ พลังงานก่อตั้งในปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogen) และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer — IPP) ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกลุ่ม GDF SUEZ ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ปัจจุบัน บริษัทโกลว์ พลังงานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย โดยในปี 2553 มีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ Cogen ประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,945 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย IPP 865 เมกะวัตต์ และ Cogen 1,080
เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และโรงไฟฟ้า IPP พลังงานน้ำอีกแห่งตั้งอยู่ในประเทศลาว ธุรกิจโรงไฟฟ้า Cogen ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุด
จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 1,945 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำจำนวน 1,046 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA อายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน 1,429 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. ส่วนปริมาณไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือรวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้นบริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาคงเหลือมากที่สุด 20 ปี ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท ในปี 2553 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วน 57% และส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าอุตสาหกรรมในธุรกิจ Cogen ของบริษัทโกลว์ พลังงานเติบโตอย่างมากในปี 2553 โดยปริมาณขายไฟฟ้าแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 3,897 กิกะวัตต์ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน CFB#3 ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ช้ากว่าแผนทำให้ปริมาณขายไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัทเติบโตไม่มากนัก โดยเพิ่มขึ้นเพียง 4.1% ในปี 2553 ทำให้รายได้รวมของบริษัทเติบโต 3.3% เป็น 35,657 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 25.0% ในปี 2553 จาก 22.1% ในปี 2552 เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง บริษัทมี EBITDA เท่ากับ 9,084 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้น 16% จาก 7,830 ล้านบาทในปี 2552 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 EBITDA ของบริษัทลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 2,279 ล้านบาทเนื่องจากรายได้จากธุรกิจ IPP ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท ตลอดจนปัญหาปริมาณน้ำฝนที่ลดลงซึ่งกระทบต่อรายได้ที่บริษัทได้รับจากโรงไฟฟ้าห้วยเหาะ การลดลงของค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทลดลง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 62.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ 59.8% ในปี 2552 เนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมเพิ่มเพื่อลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในปี 2554 จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่และการเพิ่มขึ้นของค่า Ft ในอัตรา 0.089 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงที่มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2554 แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องปริมาณน้ำฝนที่ลดลงของโรงไฟฟ้าห้วยเหาะและต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
โรงไฟฟ้า CFB#3 (ขนาด 115 เมกะวัตต์เทียบเท่า) เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยล่าช้ากว่ากำหนดการ 11 เดือน แต่รายได้ที่ขาดหายไปจากความล่าช้าในการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าได้รับการชดเชยบางส่วนจากผู้รับเหมาของโครงการตามสัญญาก่อสร้าง ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 2 โครงการคือโรงไฟฟ้า
Cogen ระยะที่ 5 (ขนาด 382 เมกะวัตต์เทียบเท่า) และโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้ชื่อ GHECO-One (ขนาด 660 เมกะวัตต์) นั้นยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการทั้ง 2 แห่งจะต้องใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาตามแผนอีกประมาณ 9,800 ล้านบาทในปี 2554 โรงไฟฟ้า Cogen ระยะที่ 5 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกันยายน 2554 ในขณะที่โรงไฟฟ้า IPP คาดว่าจะเปิดดำเนินการในเดือนมกราคม 2555 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 2 เดือน โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 1,042 เมกะวัตต์เทียบเท่า และกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จะเพิ่มขึ้น 47% เป็น 3,275 เมกะวัตต์ในปี 2555
GDF SUEZ และ International Power PLC (IPR) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโกลว์ พลังงานมีแผนจะรวมกิจการธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยเข้าด้วยกันหลังจาก IPR ได้รวมกับกลุ่ม GDF SUEZ ในต้นปี 2554 ปัจจุบัน IPR มีบริษัทย่อยในประเทศไทยคือ บริษัท ไทยเนชั่นแนล เพาเวอร์ จำกัด (TNP) TNP และบริษัทย่อยเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 143 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง นอกจากนี้ TNP ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้า Cogen ขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP มูลค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาทด้วย หากบริษัทตัดสินใจจะรวมกิจการกับ TNP ฐานะการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่จัดการได้เนื่องจากจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจาก TNP ตามสัญญา PPA และกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ของบริษัทที่กำลังทยอยเปิดดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของบริษัทในระยะยาวเนื่องจากบริษัทมีนโยบายที่จะเน้นขยายกำลังการผลิตในบริเวณมาบตาพุดซึ่งบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นหลัก จากกำลังการผลิตใหม่ทั้งสิ้นจำนวน 1,042 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา บริษัทยังคงมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ 70 เมกะวัตต์ที่ยังไม่มีสัญญาขายไฟระยะยาวรองรับ ทั้งนี้ ความกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดอาจส่งผลให้การขยายตัวของธุรกิจอื่น ๆ ในบริเวณดังกล่าวเป็นไปอย่างจำกัดซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าในบริเวณนี้ได้ ทริส
เรทติ้งกล่าว — จบ
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A อันดับเครดิตตราสารหนี้: GLOW12DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A GLOW156A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A GLOW173A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A GLOW175A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A GLOW17OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A GLOW186A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A GLOW194A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A GLOW19OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ rapee@tris.co.th โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2554 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html