บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับ และรายได้ประจำจากบริการสาธารณูปโภคที่เติบโตเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงแนวโน้มหนี้เงินกู้ที่สูงขึ้นจากแผนการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้ด้วย ทั้งนี้ ธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ โดยรายได้จากธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและลดความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่บริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ในนโยบายที่ 50% ได้ในขณะที่มีการดำเนินการตามแผนขยายธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้ง
ในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 ณ เดือนมีนาคม 2554 กลุ่มตระกูล
หอรุ่งเรืองถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.0% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นอกจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรูในใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทซึ่งรวมถึงคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 60%-70% ของรายได้รวม ยกเว้นในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่วนรายได้ที่เหลือ 30%-40% เป็นรายได้ประจำซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าโรงงาน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 31,350 ไร่ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 มีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 435 ราย ซึ่ง 35% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 12% เป็นลูกค้าในกลุ่มปิโตรเคมี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 บริษัทมีพื้นที่เหลือขาย 8,153 ไร่ โดยประมาณ 40% อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (H-ESIE) ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกในปี 2552 ผลการดำเนินงานของบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินก็ฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2553 โดยบริษัทมียอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 930 ไร่ในปี 2553 จากที่ขายได้เพียง 144 ไร่ในปี 2552 ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายที่ดินแปลงใหญ่ให้แก่ Ford ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ลดความรุนแรงลงยังช่วยสนับสนุนความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยรายงานของ CB Richard Ellis ระบุว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3,622 ไร่ในปี 2553 จากที่ขายได้เพียง 901 ไร่ในปี 2552 รายได้ประจำจากการขายสาธารณูปโภคและค่าเช่าของบริษัทยังเพิ่มขึ้นในปี 2553 โดยเพิ่มขึ้นอีก 4% จากปี 2552 เป็น 1,433 ล้านบาท รายได้รวมของบริษัทในปี 2553 เพิ่มขึ้น 80% จากปี 2552 เป็น 3,685 ล้านบาท ส่งผลทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 91% เป็น 1,654 ล้านบาทในปี 2553 ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 312 ไร่ในไตรมาสแรกของปี 2554 อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2554 สภาวิชาชีพบัญชีได้เปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นการรับรู้รายได้เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิมที่เคยรับรู้ตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง การเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ดังกล่าวส่งผลทำให้รายได้ของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2554 ลดลงถึง 74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหลือเพียง 566 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน EBITDA ก็ปรับตัวลดลงถึง 81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 148 ล้านบาท นโยบายการรับรู้รายได้ใหม่นี้แม้จะก่อให้เกิดความล่าช้าในการรับรู้รายได้ตามบัญชี แต่ก็จะไม่มีผลต่อกระแสเงินสดในการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้ คาดว่าการรับรู้รายได้จะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ส่วนความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมนั้นยังคงมีแนวโน้มที่ดีเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมูลค่าโครงการที่เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีจำนวนถึง 207.5 พันล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งเติบโต 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 จะส่งผลทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สะดุดและกระทบต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย แต่ก็คาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น
รายได้ประจำของบริษัทยังคงแข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายได้จากการขายสาธารณูปโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 68% ของรายได้ประจำในปี 2553 เพิ่มขึ้น 26% จากปี 2552 เป็น 968 ล้านบาท รายได้จากการขายสาธารณูปโภคในช่วง 3
เดือนแรกของปี 2554 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเติบโต 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 286 ล้านบาท ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตคือความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจและผลจากการรวมงบการเงินกับ บริษัท เหมราช สระบุรี ที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท เหมราช ระยอง ที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด ทั้งนี้ บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัททั้งสองเป็น 100% จากเดิม 25% ด้วยเงินลงทุน 1,144 ล้านบาทตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ธุรกิจโรงงานให้เช่าก็เติบโตเช่นกันในปี 2553 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2554 โดยพื้นที่เช่าในปี 2553 เพิ่มขึ้น 17,231 ตารางเมตร (ตร.ม.) เติบโต 19% เมื่อเทียบกับปี 2552 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 10,291 ตร.ม. ในไตรมาสแรกของปี 2554 หรือเติบโต 10% จากสิ้นปี 2553
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงภาระหนี้ของบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินว่าสูงขึ้นในปี 2553 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2554 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 46.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 32.4% ในปี 2552 เนื่องจากบริษัทได้ออกหุ้นกู้อายุ 3-9 ปี มูลค่า 6,000 ล้านบาทระหว่างปี 2553 บริษัทยังมีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มอีกในปี 2554 เพื่อรองรับแผนการลงทุนในระหว่างปี 2553-2554 โดยแผนการลงทุนจำนวน 6,000 ล้านบาทในปี 2554 ประกอบด้วยการลงทุนใน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด (GHECO-One) การขยายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการสาธารณูปโภค รวมถึงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) แม้ว่าภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่บริษัทก็ได้กำหนดแผนการชำระคืนหนี้ที่มีการกระจายตัวดี โดยบริษัทมีกำหนดการชำระคืนเงินกู้จำนวน 500-700 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2554-2555 โดยสามารถชำระคืนได้จากเงินทุนจากการดำเนินงานที่บริษัททำได้ปีละ 700-900 ล้านบาท นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 บริษัทยังมีเงินสดในมือจำนวน 3,200 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนแผนการชำระคืนหนี้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2556 นั้นจะได้จากเงินปันผลของ GHECO-One ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ที่บริษัทถือหุ้น 35% ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์และจ่ายเงินปันผลจำนวนมากและแน่นอนให้แก่บริษัทได้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป — จบ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ rapee@tris.co.th โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2554 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html