บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาทของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระหนี้และขยายธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ ตลอดจนการมีฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตจากการรวมกันในแนวดิ่ง (Vertical Integration) รวมถึงการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวทั่วโลก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร รวมทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของอุตสาหกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตของบริษัท และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนจากประโยชน์ที่ได้รับจาก Vertical Integration นอกจากนี้ ยังคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแรงทางการเงินและมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่จะบรรเทาความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมีได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์สก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 โดยกลุ่มตระกูลโลเฮีย (Lohia) ภายใต้ชื่อเดิมคือ บริษัท บีคอน โกลโบล จำกัด ในฐานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน บริษัทลงทุนในกิจการที่เกี่ยวกับธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เป็นหลักซึ่งประกอบด้วย การผลิตกรดเทอเรฟธาลลิกบริสุทธิ์ (Purified Terephthalic Acid --- PTA) การผลิตโพลีเอธิลีน เทอเรฟธาลเลท (Polyethylene Terephthalate -- PET) และการผลิตเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งสำหรับ PTA ที่ขนาด 1.93 ล้านตันต่อปี สำหรับ PET ที่ขนาด 3.39 ล้านตันต่อปี และสำหรับเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์รวมกันที่ขนาด 0.63 ล้านตันต่อปี PTA เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต PET และเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ โดย PET ใช้อย่างกว้างขวางในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในครัวเรือน เวชภัณฑ์ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ สำหรับเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์นั้นใช้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำหลากหลายประเภท ได้แก่ เครื่องแต่งกาย สิ่งทอที่ใช้ภายในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์เส้นใยที่ไม่ทอ สิ่งทอชนิดพิเศษ และอุตสาหกรรมยานยนต์ PET และเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปจากการมีคุณสมบัติที่ใช้ทดแทนวัสดุอื่นได้ โดย PET ใช้ทดแทนแก้วและอลูมิเนียมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่เส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ใช้ทดแทนเส้นด้ายและเส้นใยที่ทำจากฝ้าย วัสดุทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นที่นิยมเพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่น อีกทั้งยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และมีราคาถูก ซึ่งจะช่วยพยุงอุปสงค์ของ PET และเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจขาลง
บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์สเป็นหนึ่งในกลุ่มอินโดรามาซึ่งมีบริษัทที่เกี่ยวข้องดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียและอินเดียโดยเน้นผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์และปิโตรเคมีอื่น ๆ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ส่งผลให้ในปัจจุบันกลุ่มตระกูลโลเฮียมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลดลงจาก 92.9% เหลือ 66.4% บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยโดยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ บริษัทเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เมื่อปี 2538 โดยเริ่มการผลิต PET ที่ลพบุรี (ประเทศไทย) ภายใต้ชื่อ บริษัท อินโดรามา โพลีเมอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ระดับสากล ระหว่างปี 2549-2553 บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวจากการควบรวมกิจการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการซื้อกิจการที่ดำเนินการผลิตแล้ว และการพัฒนาโครงการผลิต PET ใหม่โดยบริษัทเอง โครงการที่บริษัทพัฒนาเองที่ประสบความสำเร็จประกอบด้วยโครงการ Orion Global ในประเทศลิธัวเนียในปี 2549 และโครงการ Alphapet ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 ต่อมาในปี 2554 บริษัทยังได้ซื้อกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก โปแลนด์ จีน อินโดนีเซีย และเยอรมันนี โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 บริษัทใช้งบในการซื้อกิจการรวมทั้งสิ้นประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิต PET รายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ จะมีการติดตามผลการดำเนินงานหลังการควบรวมกิจการต่อไป
ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตกระจายอยู่ใน 11 ประเทศ ครอบคลุม 3 ทวีป (เอเซีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ) นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการผลิต PET ในประเทศไนจีเรีย ทวีปแอฟริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาด้วย ความสำเร็จในการขยายธุรกิจของบริษัทส่วนหนึ่งเป็นผลจากการซื้อกิจการที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างโดยซื้อได้ในราคาต่ำ รวมทั้งความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่สำคัญ ๆ นอกจากนี้ การที่บริษัทมีฐานการผลิตกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคที่สำคัญยังช่วยให้บริษัทเข้าถึงฐานลูกค้าทั่วโลก ส่งผลให้บริษัทสามารถคงอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ในระดับสูง การควบคุมปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นผลมาจากการมีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเองจาก Vertical Integration และการมีโรงงานที่ใช้พื้นที่ร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบรายสำคัญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถเสนอราคาที่แข่งขันได้เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้าในตลาดที่สำคัญ เช่น อเมริกาเหนือ และยุโรป อีกทั้งการที่บริษัทลงทุนการผลิตทั้ง PTA และผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์นั้นจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มอัตราการทำกำไรให้สูงขึ้นและมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทจัดอยู่ในประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กำลังการผลิตใหม่และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกอาจมีผลกระทบต่ออุปสงค์ ราคา และกำไร อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจของบริษัททั้งในการผลิต PTA และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องน่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนดังกล่าวลงได้ นอกจาก Vertical Integration จะช่วยให้บริษัทมีวัตถุดิบที่แน่นอนสำหรับการผลิต PET ตลอดจนเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์แล้ว ยังช่วยลดค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตคงที่จากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ร่วมกันด้วย
ฐานะทางการเงินของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 18,760 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 53,332 ล้านบาทในปี 2551 และ 96,858 ล้านบาทในปี 2553 รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการในปี 2551 และการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2554 การซื้อกิจการและราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 91.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 91,853 ล้านบาท อัตราการทำกำไรของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นหลังจากรวมการผลิต PTA เข้ามาในกลุ่มกิจการตั้งแต่ปี 2551 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 8.2% ในปี 2550 เป็นประมาณ 13% ในระหว่างปี 2552-2553 สำหรับครึ่งแรกของปี 2554 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงเหลือ 10.9% เนื่องจากส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ PTA ปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าส่วนต่างราคาของ PET จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยชดเชยได้ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินผลความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่อไป การที่บริษัทมีทั้งฐานการผลิตและลูกค้าขนาดใหญ่หลังการซื้อกิจการส่งผลทำให้เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 2,673 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 11,153 ล้านบาทในปี 2553 และทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมดีขึ้นจาก 6.3% ในปี 2551 เป็น 34.6% ในปี 2553 สำหรับครึ่งแรกของปี 2554 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 9,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ดีขึ้นเช่นกันจาก 2.5 เท่าในปี 2551 เป็น 10-11 เท่าในช่วงปี 2553 ถึงครึ่งแรกของปี 2554
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในปี 2551 ส่งผลทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 11,562 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 42,602 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งรวมถึงเงินกู้เพื่อการลงทุนและเงินกู้ของบริษัทที่มีการควบรวมกิจการเข้ามา ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 64.6% เป็น 70.6% ในช่วงเวลาดังกล่าว ในช่วงปี 2553 ถึงครึ่งแรกของปี 2554 ฐานะการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการเพิ่มทุนจากการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนมูลค่ารวม 3,824 ล้านบาทในปี 2553 และการใช้สิทธิตามใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ในมูลค่าสุทธิ 17,224 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 47.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 แม้เงินกู้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 56,502 ล้านบาทจาก 32,205 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 ก็ตาม บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 20,595 ล้านบาทซึ่งจะนำไปใช้ชำระหนี้บางส่วนก่อนกำหนดจำนวนประมาณ 5,300 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้มีประกันของบริษัท ดังนั้น จึงคาดว่าสัดส่วนเงินกู้มีประกันต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทจะต่ำกว่า 20% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีกในช่วงปี 2554-2557 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตโดยรวมให้ถึง 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอาจใช้เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทและการกู้เพิ่ม ฉะนั้นจึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับ 40%-50% ต่อไปในระยะสั้นถึงปานกลาง ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ rapee@tris.co.th โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2554 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html