ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. ซิงเกอร์ประเทศไทย” ที่ระดับ “BBB/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday January 20, 2012 13:01 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของตราสัญลักษณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของบริษัทในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตลอดจนเครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจให้สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฐานลูกค้าที่กระจายตัว คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และพนักงานขายที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีและมีความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนโดยเสถียรภาพทางธุรกิจและการเงินที่มีประวัติค่อนข้างสั้นหลังจากที่ผลประกอบการของบริษัทเพิ่งฟื้นตัวได้เพียง 2 ปีจากปัญหาขาดทุนในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในช่วงปี 2549-2551 นอกจากนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดและผลงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เน้นฐานลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าคณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายเพื่อดำรงความมั่นคงของสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ให้ได้ตามแผน อีกทั้งผลประกอบการทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและฐานะการเงินจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและคุณภาพสินเชื่อจะได้รับการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทซิงเกอร์ประเทศไทยมีผลประกอบการเป็นกำไรในปี 2553 หลังจากประสบผลขาดทุนมาหลายปี ผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบในทางลบในระหว่างปี 2549-2550 จากการถดถอยลงอย่างมากของคุณภาพสินเชื่อรถจักรยานยนต์ บริษัทเริ่มเพิ่มธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์เข้ามาในปี 2544 เนื่องจากยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเริ่มชะลอตัว และเพื่อที่จะเพิ่มยอดขายรถจักรยานยนต์ให้ได้ในปริมาณที่มากพอ บริษัทจึงได้ดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกตั้งแต่ปลายปี 2547 จนถึงปี 2548 ซึ่งทำให้บริษัทมีสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในปริมาณที่มากกว่าครึ่งของสินเชื่อรวมและส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2549 และ 2550 เป็นอย่างมาก โดยบริษัทมีผลขาดทุนจำนวนมากในช่วง 2 ปีดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายกันสำรองสำหรับหนี้เสียของสินเชื่อรถจักรยานยนต์

ในปี 2550 คณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เคยร่วมงานกับบริษัทมาตั้งแต่ก่อนปี 2548 ได้กลับเข้ามาร่วมงานกับบริษัท และต่อมาในปี 2551-2552 บริษัทได้ดำเนินการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการดำเนินงานภายใน ส่งผลทำให้ยอดบัญชีสินเชื่อคงค้างลดลงจากประมาณ 390,000 บัญชีในปี 2548 เหลือประมาณ 160,000 บัญชีในปี 2552

ในปี 2553 บริษัทได้กลับมาเน้นการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนานโดยใช้กลยุทธ์ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็ก บริษัทเพิ่มและเน้นจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่ผู้ซื้อ เช่น ตู้แช่ และเครื่องเติมเงินสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภทนี้คิดเป็น 26% ของยอดขายรวมในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 40% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2554 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทมียอดบัญชีสินเชื่อจำนวน 142,649 บัญชี เพิ่มขึ้นจาก 140,730 บัญชีในปี 2553 ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่นี้จัดว่ามีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วไปของบริษัท นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ลูกค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้คืนและยกระดับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทเพิ่งจำหน่ายสินค้ากลุ่มใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้น ความสำเร็จของกลยุทธ์ใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทสร้างความมั่นคงให้แก่สถานะทางการตลาดและผลประกอบการยังต้องรอการพิสูจน์

ในปลายปี 2551 บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายควบคุมสินเชื่อเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ใบสมัครสินเชื่อ โดยแยกอำนาจการอนุมัติสินเชื่อออกจากพนักงานขายเพื่อสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์และมาตรฐานการปฏิบัติงาน ส่งผลทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นจากระดับสูงที่ 26.5% ในปี 2550 เป็น 4.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ในเวลาเดียวกัน อัตราส่วนการเก็บเงินเฉลี่ย ณ ทุกๆ สิ้นเดือนก็ปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำที่ 69.5% ในปี 2550 เป็น 91.4% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 การกระจายตัวของฐานลูกค้าในแง่ของภาระหนี้ต่อบัญชีและในเชิงพื้นที่ยังมีส่วนช่วยให้บริษัทลดทอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ด้วย

ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะกระจายฐานลูกค้าตามประเภทของผลิตภัณฑ์ต่อไป ทั้งนี้ การพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ประเภทใดประเภทหนึ่งค่อนข้างมากจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวได้

บริษัทรายงานผลขาดทุน 1,233 ล้านบาทในปี 2549 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นจำนวน 1,216 ล้านบาทสำหรับสินเชื่อรถจักรยานยนต์ บริษัทยังคงมีผลขาดทุนต่อเนื่องจำนวน 500 ล้านบาทในปี 2550 ในช่วง 2 ปีดังกล่าว ฐานทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงเป็น 624 ล้านบาทในปี 2550 จาก 2,299 ล้านบาทในปี 2548 บริษัทรายงานผลกำไร 89 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นจากขาดทุน 82 ล้านบาทและ 10 ล้านบาทในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นในปี 2554 ด้วยกำไรสุทธิ 100 ล้านบาทสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 ส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเป็น 921 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การเพิ่มขึ้นของฐานทุนส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายทางบัญชีเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบริษัท สินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงเป็น 1,298 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 จาก 4,960 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 69.6% ในปี 2551 เป็น 45.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับที่เพียงพอให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้

การมีเครือข่ายที่กว้างขวางทำให้ตราสินค้า “ซิงเกอร์” เป็นที่รู้จักในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศมากว่า 1 ศตวรรษ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เครือข่ายของบริษัทประกอบด้วยสำนักงานขายจำนวน 189 สาขาและพนักงานขายประมาณ 2,500 คน อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทลดทอนลงไปบางส่วนจากข้อจำกัดด้านความยืดหยุ่นทางการเงิน ในปลายปี 2552 บริษัททำการปรับโครงสร้างเงินกู้ยืมทั้งหมดซึ่งขณะนั้นเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นแบบหมุนเวียนมาเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวแบบทยอยจ่ายชำระคืนเงินต้น ซึ่งสัญญาปรับระยะเวลาจ่ายคืนเงินกู้ยืมดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มสภาพคล่องแต่ก็จำกัดความยืดหยุ่นทางการเงิน ทั้งนี้ เงื่อนไขในสัญญากำหนดว่าบริษัทจะไม่สามารถระดมทุนโดยการกู้ยืมได้ใหม่หากปราศจากความยินยอมของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ดังนั้น ความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อใช้ชำระหนี้เดิมหรือขยายธุรกิจจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของบริษัท ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ rapee@tris.co.th  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2555  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ