บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศของบริษัท รวมทั้งความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ผลการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพ และสภาพคล่องที่เพียงพอ ทั้งนี้ การเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางช่วยเอื้อให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลอดจนแรงกดดันต่อการทำกำไร และกฎระเบียบที่เข้มงวดซึ่งมีผลต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไป อีกทั้งจะยังคงความแข็งแกร่งในการดำเนินงาน รวมทั้งเพิ่มยอดขายและกำไรในธุรกิจเบียร์ และจะยังคงระดับสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ได้ตลอดเวลา
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ในประเทศไทย กลุ่มสินค้าของบริษัทมีความหลากหลายโดยครอบคลุม สุรา (สุราขาวและสุราสี) เบียร์ เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ รวมทั้งธุรกิจอาหาร โดยมีตราสัญลักษณ์สินค้าหลัก คือ “รวงข้าว” สำหรับสุราขาว “หงส์ทอง” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุราสี และ “ช้าง” สำหรับเบียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “โออิชิ” ด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่รายหนึ่งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทมีรายได้รวม 90,819 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 โดยรายได้จากธุรกิจสุราอยู่ที่ 59,715 ล้านบาท คิดเป็น 66% ของรายได้รวม และสร้างกำไรเกินกว่า 90% ของอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดสุราไทยในสัดส่วน 85%-93% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับธุรกิจเบียร์นั้นบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 36% ในปี 2553 เป็น 32% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 โดยมีรายได้คิดเป็น 25% ของรายได้รวม แต่มีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ต่อปีติดลบ 1%-2% ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารดำเนินงานหลักโดยบริษัทลูกคือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ธุรกิจทั้งสองนี้สร้างรายได้ประมาณ 9% ของรายได้รวม และ 5% สำหรับ EBITDA รวมสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทนับว่ามีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งโดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% ของตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทย
ฐานการผลิตของบริษัทไทยเบฟเวอเรจในประเทศไทยประกอบด้วยโรงกลั่น 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง และโรงผลิตชาเขียว 2 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์ และโรงกลั่นอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากต้นทุนสินค้าที่แข่งขันได้และมีอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบ การกระจายตัวของฐานการผลิตช่วยลดความเสี่ยงของการขาดแคลนสินค้า นอกจากนี้ ระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางของบริษัทที่รวมกับเครือข่ายของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทเพิ่งซื้อกิจการเข้ามาใหม่นั้นจะกลายเป็นเครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งที่สุดและกว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ บริษัทมีศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่งและมีรถขนส่งสินค้ามากกว่า 6,000 คัน โดยกิจกรรมการขายกระทำผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่าย 500 ราย และพนักงานขายมากกว่า 1,300 คนซึ่งรองรับร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางช่วยสร้างเสถียรภาพทางธุรกิจ ตลอดจนเสริมความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ปัจจุบันบริษัทกำลังขยายธุรกิจในตลาดเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การควบรวมกิจการกับบริษัทเสริมสุขซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมในประเทศรายใหญ่ที่สุดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาสินค้า นอกจากนี้ การขยายธุรกิจสู่ตลาดเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้นจะช่วยถ่วงดุลผลประกอบการในธุรกิจเบียร์ที่อ่อนตัวของบริษัทลงได้บ้าง
บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 16%-18% อัตรากำไรได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการที่ขาดทุนในธุรกิจเบียร์ตั้งแต่ปี 2552 และธุรกิจอาหารที่ขยายตัวด้วยอัตรากำไรที่ต่ำกว่า สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 นั้น ทริสเรทติ้งมองว่ากำไรจากธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์จะลดลงซึ่งเป็นผลจากยอดขายที่ตกลงจากผลกระทบของอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 โดยอัตรากำไรเต็มปีอาจจะยังคงอ่อนตัวต่อไป ทั้งนี้ การคิดหาวิธีควบคุมค่าใช้จ่ายและการนำเสนอสินค้าใหม่ถือเป็นสิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะปรับปรุงการทำกำไรให้ดียิ่งขึ้น
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีความแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 14,000-15,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ระดับภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 9,362 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ 21,253 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 จากการซื้อกิจการของบริษัทเสริมสุข ความสามารถในการชำระหนี้ที่วัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอ่อนตัวลงจากระดับที่แข็งแกร่งมากที่ 160.3% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 49.9% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ณ ปลายเดือนกันยายน 2554 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 13.9% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 26.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554
เนื่องจากบริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัทเสริมสุขเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 งบการเงินรวมของบริษัทสำหรับงวดปิดงบ 9 เดือนจึงรวมเฉพาะสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเสริมสุขเท่านั้น ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทเสริมสุขจะรวมเข้ามาในงบการเงินของบริษัทตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าของบริษัทเสริมสุขน่าจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเสริมสุขอยู่ที่ประมาณ 5% ของรายได้ ซึ่งต่ำกว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น เมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทเสริมสุขเข้ามาแล้วจึงน่าจะส่งผลให้อัตรากำไรเฉลี่ยของบริษัทได้รับแรงกดดันให้อ่อนตัวลงบ้าง ในช่วงระยะปานกลางคาดว่าธุรกิจสุราจะยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรและกระแสเงินสดหลักของบริษัทต่อไป ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทรักษาสถานะเครดิตให้อยู่ในระดับสูงและคงสภาพคล่องให้แข็งแกร่งโดยเฉพาะในช่วงที่มีการลงทุน
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเติบโตที่ต่อเนื่องและความนิยมในสุราที่ผลิตในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่ตลาดเบียร์ถดถอยลงตั้งแต่ปี 2551 คาดว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2555 โดยเฉพาะเบียร์จะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากกฎระเบียบและข้อจำกัดที่เข้มงวด ทั้งนี้ การแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีสรรพสามิต การจำกัดการโฆษณา และการควบคุมการจัดจำหน่ายล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างภาระให้แก่ผู้ผลิตเบียร์และสุราต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ rapee@tris.co.th โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2555 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html