บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป ทริสเรทติ้งได้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตในอนาคตของบริษัทต่างๆ โดยการกำหนด "แนวโน้มอันดับเครดิต" (Rating Outlook) ให้แก่อันดับเครดิตของลูกค้าทุกราย ซึ่งแนวโน้มอันดับเครดิตจะสะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า
โดยทริสเรทติ้งกล่าวว่า แนวโน้มอันดับเครดิต หรือ Rating Outlook แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ แนวโน้ม "Positive" ซึ่งเป็นแนวโน้มบวก หมายถึงอันดับเครดิตอาจปรับขึ้น แนวโน้ม "Stable" ซึ่งเป็นแนวโน้มที่คงที่ หมายถึงอันดับเครดิตอาจไม่เปลี่ยนแปลง แนวโน้ม "Negative" ซึ่งเป็นแนวโน้มลบ หมายถึงอันดับเครดิตอาจปรับลง หรือแนวโน้ม "Developing" ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยังไม่ชัดเจน หมายถึงอันดับเครดิตอาจปรับขึ้น หรือคงที่ หรืออาจปรับลดลง
เหตุผลของแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook Rationale)
ชื่อหน่วยงาน อันดับเครดิตองค์กร อันดับเครดิตตราสารหนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต
สถาบันการเงิน
1.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) A- BBB+ Positive
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "บวก" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธนาคาร โดยธนาคารจะได้รับผลบวกจากแนวโน้มที่ดีของธุรกิจธนาคารจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากการไถ่ถอนหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (SLIPS) ซึ่งมีต้นทุนสูงเมื่อเดือนมีนาคม 2547 และการปรับปรุงองค์กรของธนาคารที่ผ่านมาอาจมีส่วนช่วยให้ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น สัดส่วนสำรองสำหรับเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารคาดว่าจะสูงขึ้นจากการที่ผู้บริหารมีนโยบายที่ชัดเจนในการกันสำรองเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังคงมีความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของสินทรัพย์ให้ดีขึ้นต่อไป
2. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) BBB- BB+ Positive
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "บวก" สะท้อนถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของคุณภาพสินทรัพย์ ฐานเงินทุน และความสามารถในการสร้างรายได้ของธนาคาร การควบรวมกิจการระหว่าง 3 สถาบันอันได้แก่ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะส่งผลให้เกิดธนาคารที่มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กรมีแนวโน้มที่จะช่วยผสานประโยชน์ของการรวมตัวกันให้เกิดขึ้นในการสร้างมูลค่าการดำเนินธุรกิจของธนาคารทหารไทย ผลจากการรวมกิจการในครั้งนี้จะช่วยทำให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจธนาคารครบวงจรตามวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาและปฏิรูประบบสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งจะติดตามความเสี่ยงอันอาจจะเกิดขึ้นจากกการรวมกิจการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
3. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย A+ A+ Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงการที่ธนาคารได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาล ธนาคารมีบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญในอันที่จะเข้าไปสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ธนาคารอยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรบุคคล ถึงแม้ธนาคารจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นในปี 2546 แต่การบริหารความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อและการบริหารจัดการภายในองค์กรยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา
4. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย A+ - N.A.
5. บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) - AAA Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ของบริษัทแม่อันได้แก่ บริษัท จีอี แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น (GECC) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AAA" และ "Aaa" จากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวส์ และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ตามลำดับ ความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจของ GECC สะท้อนมาจากการกระจายความเสี่ยงของการทำธุรกิจและความสามารถในการรักษาระดับผลกำไรอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างดี
6. บริษัท ไทยคอมเมอร์เชียล ออโต้ จำกัด BBB+ BBB+ Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้แม้ว่าภาวะการแข่งขันในธุรกิจจะยังคงรุนแรงและมีความเสี่ยงในทางลบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินก็ตาม การสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะ
7. บริษัท นวลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) BBB BBB+ Negative
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "ลบ" สะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงและต่อเนื่องในธุรกิจการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ซึ่งส่งผลในด้านลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนแปลงเป็น "คงที่" หากบริษัทสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรและระดับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมไว้ได้จากการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แบบกลุ่ม (Fleet Hire Purchase) และสินเชื่อให้เช่าการเงินสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มากขึ้น
8. บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) A- A- Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงบทบาทการเป็นผู้นำในตลาดบัตรเครดิตของบริษัท แผนการตลาดสร้างความสำเร็จให้แก่บริษัททั้งในส่วนของการขยายฐานลูกค้าและการเพิ่มปริมาณการใช้บัตรเครดิต ในช่วงของการขยายธุรกิจ บริษัทก็สามารถรักษาคุณภาพการปล่อยสินเชื่อจากบัตรเครดิตและนโยบายจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้อย่างน่าพอใจ นอกจากนี้ ธุรกิจใหม่อันได้แก่สินเชื่อเงินผ่อนและสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนธุรกิจเป็นอย่างดี
9. บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) BBB+ BBB+ Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงศักยภาพของบริษัทในการดำรงตำแหน่งผู้นำในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ บริษัทมีแนวโน้มที่จะสามารถรักษาลูกค้าเดิมที่สำคัญและขยายฐานลูกค้าใหม่ ตลอดจนรักษาคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง และคาดว่าสัดส่วนของเงินกู้ยืมของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจากการขยายธุรกิจของบริษัท
10. บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) - BBB Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงศักยภาพในการรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรของบริษัท ต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำหลังจากการออกหุ้นกู้ส่งผลให้บริษัทสามารถแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้ รายได้อื่นจากธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัทยังสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทอยู่ในระดับเดียวกับที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ อย่างไรก็ตาม ทริส
เรทติ้งกังวลในระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทซึ่งอาจส่งผลในด้านลบต่ออันดับเครดิต
11. บริษัท สยาม เอ แอนด์ ซี จำกัด BBB+ BBB+/AA Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายที่บริษัทจะสามารถรักษาฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ได้เนื่องจากการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ ACOM Co., Ltd. ในประเทศญี่ปุ่น บริษัท อิโตชู แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ Siew & Co., Ltd. นโยบายการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดของบริษัทคาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนโดยทั่วไปในระดับสูงเช่นกันได้
แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สำหรับตราสารหนี้ที่มีการค้ำประกันของบริษัทสะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" ของบริษัทผู้ค้ำประกัน คือ ACOM Co., Ltd. ที่ได้รับจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลเนื่องมาจากการมีฐานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และคุณภาพสินทรัพย์ในระดับที่บริหารจัดการได้ของ ACOM
12. บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) A- A- Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าฐานะของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับตามที่คาดการณ์ไว้แม้ว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และภาวะการแข่งขันยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม ประสบการณ์ที่ยาวนานของผู้บริหารและความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะสนับสนุนให้บริษัทสามารถรักษาสถานะทางการตลาดโดยเฉพาะในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ได้ แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะกำหนดแนวทางในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้เข้มงวดขึ้น แต่เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของบริษัทและความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง จึงทำให้เพียงพอในการรองรับขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎเกณฑ์ดังกล่าว
13. บริษัท ไฮเวย์ จำกัด BBB+ BBB+ Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงการที่บริษัทได้รับการสนันสนุนจาก บริษัทเงินทุน ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรในระดับสูงของบริษัท โดยความต้องการรถจักรยานยนต์คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและความสามารถในการทำกำไรในระดับที่สูงไว้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากภาวะการแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ธนาคาร ก็อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งในกรณีดังกล่าว แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับการพิจารณาอีกครั้ง
14. บริษัทเงินทุน เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) BBB+ BBB+ Positive
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "บวก" สะท้อนถึงการรักษาความสามารถในการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการนำเอาประสบการณ์ของบริษัทมาสร้างตลาดของธุรกิจสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ด้วย บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่งผลให้การลงทุนในสิทธิเรียกร้องสำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพของบริษัทได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ และด้วยฐานเงินทุนที่พอเพียง บริษัทวางแผนในการยกระดับบริษัทเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการขยายขอบเขตในการดำเนินธุรกิจตามไปด้วย
15. บริษัทเงินทุน ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) A A Positive
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "บวก" สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่บริษัทจะมีสถานะทางการเงินในระยะปานกลางในระดับที่ดีกว่าที่ทริสเรทติ้งได้คาดการณ์ไว้ แผนการเปลี่ยนสถานะจากบริษัทเงินทุนเป็นธนาคารพาณิชย์ของบริษัทจะส่งผลดีแก่บริษัทในด้านของการดำเนินธุรกิจในขอบเขตที่กว้างขึ้นและฐานะในการแข่งขันในระยะยาวของบริษัท ระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ผลการดำเนินงานในอดีตที่พิสูจน์ได้ และความเพียงพอของระดับเงินกองทุนของบริษัทจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
16. บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) BBB - Stable
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ในระยะปานกลางแม้ว่าสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวนก็ตาม ภายหลังจากการปรับโครงสร้างเงินทุนแล้ว บริษัทยังคงมีสภาพคล่องและฐานทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในประเทศ แม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะยังคงมีอยู่ก็ตาม แต่อันดับเครดิตของบริษัทในปัจจุบันอยู่บนสมมติฐานที่ว่าบริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ที่สม่ำเสมอจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ด้วย
17. บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด A- BBB+ Positive
เหตุผล: แนวโน้มอันดับเครดิต "บวก" สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่บริษัทจะสามารถขยายธุรกิจหลักได้อย่างต่อเนื่องและรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่นักลงทุนท่ามกลางแนวโน้มที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม บริษัทจำเป็นต้องแสดงถึงความสามารถในการรักษาปริมาณธุรกิจในระยะยาวท่ามกลางความผันผวนของตลาด โดยอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของบริษัทจะได้รับการปรับเพิ่มหากบริษัทสามารถสร้างผลงานและรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้โดยไม่ทำให้สถานะทางการเงินด้อยลง
โปรดอ่านต่อในข่าวหมายเลข (2)