บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) ที่ระดับ "A+" โดยสะท้อนถึงรายได้ที่สม่ำเสมอในรูปของเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้น 100% คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (RATCHGEN) ตลอดจนนโยบายการลงทุนที่มีความระมัดระวัง และความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนเนื่องจากเจ้าหนี้ของ RATCH มีสิทธิในการรับชำระหนี้และเรียกร้องสิทธิในสินทรัพย์ของ RATCHGEN ที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้ของ RATCHGEN เอง รวมทั้งความไม่แน่นอนของการแปรรูปกิจการไฟฟ้าในอนาคต
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ RATCHGEN ที่ระดับ "AA-" โดยสะท้อนถึงความมั่นคงและแน่นอนของกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าราชบุรีที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เทคโนโลยีที่ทันสมัย และประสบการณ์ที่ยาวนานของผู้ถือหุ้นและผู้ปฏิบัติการโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและความไม่แน่นอนของการแปรรูปกิจการไฟฟ้าในอนาคตด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ทั้ง RATCH และ RATCHGEN ก่อตั้งในปี 2543 เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจาก กฟผ. โดย RATCH ถือหุ้น 100% ใน RATCHGEN ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศโดยเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรีที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,645 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับ 14% ของกำลังการผลิตติดตั้งในประเทศ และคิดเป็น 34% ของกำลังการผลิตติดตั้งของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ซึ่งRATCH มีรายได้เงินปันผลที่สม่ำเสมอจาก RATCHGEN ในขณะที่ RATCH มี กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 45% ณ เดือนมีนาคม 2547 โดย กฟผ. มีสัญญาในการเป็นผู้เดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าราชบุรีและเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวจาก RATCHGEN นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีภาระผูกพันในสัญญาการซื้อก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) แทน RATCHGEN ด้วย โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอายุ 25 ปีระหว่าง กฟผ. กับ RATCHGEN ได้รับการออกแบบอย่างดีเพื่อป้องผลกระทบจากความผันแปรของอุปสงค์และอุปทานของไฟฟ้า รายได้ค่าไฟฟ้าที่มาจากการดำรงความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าทำให้เกิดความมั่นคงและแน่นอนของกระแสเงินสด ในขณะที่กลไกในการปรับรายได้ช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและอัตราเงินเฟ้อ ส่วนสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติอายุ 25 ปีกับ ปตท. และโครงสร้างค่าพลังงานไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นปัจจัยจำกัดความเสี่ยงในด้านเชื้อเพลิง
ทริสเรทติ้งกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ RATCH จะมีนโยบายเปิดกว้างในการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่บริษัทจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่พร้อมขยายกำลังการผลิตและโครงการใหม่ในลำดับถัดไป นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2546 RATCH ได้ลงทุนจำนวน 2,100 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นในสัดส่วน 37.5% ในบริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด (TECO) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแบบพลังความร้อนร่วมที่มีกำลังการผลิตขนาด 700 เมกะวัตต์ที่จังหวัดราชบุรี และในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 RATCH ได้ลงทุนซื้อหุ้น 25% ใน บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด อีก 416 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2551
ผลการดำเนินงานของ RATCHGEN ในปี 2546 นับว่าน่าพอใจ บริษัทสามารถดำรงค่าความพร้อมจ่ายเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนให้อยู่ที่ระดับ 87% และค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมให้อยู่ที่ระดับ 86% ในปี 2546 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 6,694 ล้านบาทเป็น 8,034 ล้านบาทเนื่องจากปี 2546 เป็นปีแรกที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมดำเนินการเต็มปี ในปี 2546 บริษัทยังคงมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับสูงที่ 64% และมีอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งไม่รวมบัญชีเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้แต่หักส่วนเปลี่ยนแปลงสุทธิของเงินทุนหมุนเวียนแล้วอยู่ที่ระดับ 3.4 เท่า
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า กฟผ. มีสัญญาเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียวของ RATCHGEN ซึ่ง กฟผ. สามารถกำหนดช่วงเวลาและการสั่งจ่ายไฟฟ้าจาก RATCHGEN ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้า ดังนั้น อันดับเครดิตของ RATCHGEN จึงขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ปัจจุบัน กฟผ. มีรัฐบาลถือหุ้น 100% และกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการปรับโครงสร้างองค์กร ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงต้องติดตามผลกระทบของการแปรรูปของ กฟผ. ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพอันดับเครดิตของ RATCH และ RATCHGEN อย่างใกล้ชิดต่อไป - จบ