บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน 400 ล้านบาท (HWAY069A) ของ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ที่ระดับ "BBB+" ซึ่งสะท้อนความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในระดับสูงและสัมพันธ์กับความต้องการรถจักรยานยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานภาพที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และความสามารถในการทำกำไรในระดับที่สูง ทั้งนี้ ในการให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการสนับสนุนจากบริษัทแม่ คือ บริษัทเงินทุน ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนด้วยความเสี่ยงในด้านความน่าเชื่อถือของกลุ่มลูกค้ารถจักรยานยนต์ และการแข่งขันที่รุนแรงจากกลยุทธ์ในเชิงรุกของผู้ประกอบการรายใหม่
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังยืนยันแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" สำหรับอันดับเครดิตของบริษัท ซึ่งสะท้อนการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรในระดับสูงของบริษัท โดยความต้องการรถจักรยานยนต์คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและความสามารถในการทำกำไรในระดับที่สูงไว้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากภาวะการแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ธนาคารมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทก็อาจได้รับการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไฮเวย์ มี บง. ทิสโก้ ถือหุ้น 100% โดยบริษัทจะได้รับการตรวจสอบและติดตามแผนธุรกิจและผลการดำเนินงานจากบริษัทแม่อย่างสม่ำเสมอโดยใช้มาตรฐานการปฏิบัติเหมือนกัน การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับรากหญ้าทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อสูงขึ้น ผนวกกับแผนการส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินดาวน์รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลง และการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจากผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงมากขึ้นส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางสามารถเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ได้ง่ายขึ้น ในปี 2547 กลยุทธ์การลดเงินดาวน์ส่งผลให้สินเชื่อรวมสำหรับรถจักรยานยนต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลถึงความสามารถในการชำระหนี้ด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในธุรกิจนี้ บริษัทไฮเวย์ มีผลขาดทุนจากการจำหน่ายรถยึดจากสาเหตุหลักที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เปลี่ยนไปซื้อรถรุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลงแทน โดยผลขาดทุนจากการจำหน่ายรถยึดเพิ่มขึ้นจากระดับเฉลี่ย 5,000 บาทต่อคันในปี 2545 เป็น 8,000 บาทต่อคันในปี 2546 แต่บริษัทก็มีแผนในการนำรถยึดไปจัดจำหน่ายในต่างจังหวัดโดยคาดว่าจะได้ราคาที่ดีกว่าการเปิดประมูลตามที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ช่องทางใหม่นี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จ
บริษัทเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่อันดับที่ 2 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับ 20% ไว้ได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสามารถในการทำกำไรในระดับสูงของธุรกิจให้สินเชื่อประเภทนี้ได้ดึงดูดผู้ให้บริการทางการเงินรายอื่นๆ สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น โดย บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (GECAL) ได้เริ่มให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปี 2545 และสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาด 4% ด้วยกลยุทธ์เชิงรุกในการจ่ายค่าคอมมิชชั่นในระดับสูงให้แก่ตัวแทนจำหน่าย โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของ GECAL ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 9% ในปี 2546 ทริสเรทติ้งคาดว่าด้วยความสัมพันธ์ยาวนานที่มีกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัท ประกอบกับคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ รวมทั้งการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่ จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้บริษัทไฮเวย์ สามารถรักษาสถานะและส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2540 ในช่วงปี 2541-2546 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของยอดขายรถจักรยานยนต์ภายในประเทศอยู่ที่ระดับ 28% ต่อปี โดยยอดขายรวมเพิ่มขึ้นจาก 491,829 คันในปี 2541 เป็น 1,687,132 คันในปี 2546 และสำหรับ 5 เดือนแรกของปี 2547 มียอดขายรวมอยู่ที่ 836,390 คัน โดยเป้าหมายสำหรับปี 2547 อยู่ที่ระดับ 1,900,000 คัน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะไม่เพิ่มขึ้นมากเหมือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็จะไม่ต่ำกว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ - จบ