ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ถิรไทย” ที่ “BBB+/Stable”

ข่าวทั่วไป Thursday March 21, 2013 13:02 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรียซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้ของบริษัทต้องพึ่งพิงกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในระยะกลางขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและความต่อเนื่องของสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและสามารถปรับเพิ่มอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน จากการที่ตลาดมีความผันผวนสูงขึ้น บริษัทควรสำรองสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ให้เพียงพออยู่เสมอ ความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดที่ลดลงซึ่งหากยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกจะส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัท

บริษัทถิรไทยก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดย ณ เดือนธันวาคม 2555 นายสัมพันธ์ วงษ์ปานซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 32% บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศจำนวน 2 รายที่ผลิตทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ถึง100 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 กิโลโวลต์

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายการดำเนินธุรกิจ โดยในปี 2554 บริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด (E&S) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดได้เริ่มธุรกิจประกอบและจำหน่ายรถไฮดรอลิกโดยมีรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก และในช่วงเดือนตุลาคม 2555 บริษัทได้ซื้อหุ้น 85% ใน บริษัท แอล. ดี. เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด (LDS) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กขึ้นรูป ผลิตภัณฑ์ของ LDS ประกอบด้วย ถังหม้อแปลงไฟฟ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ทำจากเหล็ก และเตาอาบสังกะสี เป็นต้น LDS เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายถังหม้อแปลงไฟฟ้ารายใหญ่ให้แก่บริษัท การซื้อกิจการของ LDS ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกำลังการผลิตของ LDS เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง

รายได้รวมของบริษัทในปี 2555 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายอย่างละ 41% โดยรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งคิดเป็น 10% สัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15% ของรายได้รวมของบริษัทเมื่อบริษัทย่อยดังกล่าวสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า 3 รายซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดโดยเฉลี่ย ในปี 2555 ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (34% ของรายได้รวม) บริษัทเอกชน (34%) และลูกค้าภาคการส่งออก (14%) ลูกค้าในกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้ายังคงเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ารายสำคัญเนื่องจากมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับเนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐ

สำหรับธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังนั้น บริษัทเป็น 1 ในผู้ผลิตทั้งสิ้น 4 ราย และเป็น 1 ใน 2 รายที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้า 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ด้วยแรงดันไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเนื่องจากรูปแบบทางวิศวกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่า กลุ่มผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหรือธุรกิจที่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือและคุณภาพจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ผลงานของผู้ผลิตและประวัติการดำเนินงานจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการตัดสินใจซื้อ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากการเข้ามาของผู้ผลิตจากประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันคาดว่าจะลดความรุนแรงลงเนื่องจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2555 ภายใต้อัตราภาษีใหม่ การนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีกำลังไฟฟ้าระหว่าง 200-300 เมกะโวลต์แอมแปร์จะเสียภาษีนำเข้าในอัตราเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็นอัตรา 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์จากทาง Siemens ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งทาง Siemens จะช่วยสนับสนุนในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง สัญญาฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2557 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถต่ออายุสัญญาซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดส่งออกใหม่ ๆ สำหรับหม้อแปลงระบบจำหน่ายนั้นปัจจุบันมีคู่แข่งในประเทศมากกว่า 20 ราย อย่างไรก็ตาม บริษัทเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่หลากหลายและมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 เมื่อพิจารณาจากรายได้ในปี 2554

ยอดรับคำสั่งซื้อของบริษัทเพิ่มขึ้น 90.5% เป็น 2,137 ล้านบาทในปี 2554 จาก 1,122 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัย 2 ประการคือ ยอดคำสั่งซื้อที่คงค้างจากโครงการอุตสาหกรรมที่เคยถูกระงับในเขตมาบตาพุดและความวุ่นวายทางการเมืองที่ลดลง ส่งผลให้รายได้ในปี 2554 เท่ากับ 1,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จาก 1,492 ล้านบาทในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ยอดคำสั่งซื้อลดลง 7.9% ในปี 2555 เท่ากับ 1,968 ล้านบาทเนื่องจากความล่าช้าในโครงการของรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 รวมทั้งการเลื่อนคำสั่งซื้อของลูกค้าภาคเอกชนและลูกค้าภาคการส่งออก ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าและบริการลดลง 6.2% เท่ากับ 1,724 ล้านบาทในปี 2555 จาก1,838 ล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่ง รายได้รวมของบริษัทเติบโต 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ณ สิ้นปี 2555 บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวนมากถึง 1,241 ล้านบาท ทั้งหมดมีกำหนดส่งมอบภายในปี 2556 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลโครงการที่มีมูลค่ารวมประมาณ 7,000 ล้านบาท จากประวัติที่ผ่านมาบริษัทจะมีอัตราความสามารถในประมูลสำเร็จประมาณ 20%-25%

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2555 ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราส่วนกำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 19.5% ในปี 2555 จากประมาณ 30% ที่บริษัททำได้ในปี 2553-2554 กำไรขั้นต้นลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังจากผู้ผลิตจากประเทศจีน ส่งผลให้บริษัทต้องลดอัตรากำไรขั้นต้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลขาดทุนจากยอดคำสั่งซื้อจากลูกค้าภาคส่งออกที่ประเทศอินเดียเนื่องจากตัวแทนจำหน่ายตัดราคาอย่างรุนแรง ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2555 เท่ากับ 5.0% ลดลงจาก 15.5% ในปี 2554 ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2556 จะยังเผชิญกับแรงกดดันจากยอดขายที่รอการส่งมอบบางส่วนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับต่ำ

ในเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าและงานเหล็กขึ้นรูป ณ สิ้นปี 2555 บริษัทมีหนี้สินรวมเท่ากับ 987 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 532 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ระดับ 49.0% เพิ่มขึ้นจาก 33.3% ณ สิ้นปี 2554 หนี้สินรวมที่เพิ่มขึ้นและอัตรากำไรที่ลดลงส่งผลลบต่อกระแสเงินสดของบริษัท โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเหลือ 13.6% ในปี 2555 จากระดับเดิมที่แข็งแกร่งมากประมาณ 60% ในช่วงปี 2553-2554 ในทำนองเดียวกัน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงจากระดับที่แข็งแกร่งมากในอดีตเหลือ 3.1 เท่า ในปี 2555 ในระยะกลาง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้า ในขณะที่หนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 510 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2557

บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) (TRT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRT156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ